กระจุกดาวลูกไก่

          ภาพ #กระจุกดาวลูกไก่ หนึ่งในวัตถุท้องฟ้าที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด เป็น #ภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย ประจำสัปดาห์นี้ บันทึกโดยคุณวชิระ โธมัส และเป็นภาพที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทวัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects) จากการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2563 

          กระจุกดาวลูกไก่ หรือ M45 เป็นวัตถุท้องฟ้าประเภทกระจุกดาวเปิด อยู่ในบริเวณกลุ่มดาววัว (Taurus) ห่างจากโลกประมาณ 400 ปีแสง สังเกตเห็นด้วยตาเปล่าได้ง่าย เป็นดาวฤกษ์สว่างเด่นเกาะกลุ่มกัน 6 – 8 ดวง แต่หากสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะพบว่ามีดาวฤกษ์มากถึงหลายร้อยดวง เกาะกลุ่มกันด้วยแรงดึงดูดระหว่างมวล

          กระจุกดาวลูกไก่ ประกอบด้วยดาวฤกษ์สีน้ำเงินที่มีอายุน้อย ก่อกำเนิดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน บริเวณรอบ ๆ จึงรายล้อมไปด้วยกลุ่มฝุ่นแก๊สเนบิวลาที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งเป็นประเภทเนบิวลาสะท้อนแสง (Reflection nebula) กลุ่มแก๊สเหล่านี้ไม่สามารถเรืองแสงได้ด้วยตัวเอง แสงที่เห็นเกิดจากแสงของดาวฤกษ์เดินทางไปตกกระทบกลุ่มแก๊ส แล้วเกิดการสะท้อนและกระเจิงแสงขึ้น ส่วนมากเนบิวลาประเภทนี้จะมีสีฟ้า ซึ่งกระบวนการกระเจิงแสงดังกล่าว เป็นกระบวนการคล้ายกับการกระเจิงแสงในชั้นบรรยากาศโลก ที่ทำให้เราเห็นท้องฟ้าตอนกลางวันมีสีฟ้า 

          วิธีการสังเกตกระจุกดาวลูกไก่สามารถทำได้ง่าย ๆ เริ่มจากการมองหากลุ่มดาวนายพรานก่อน แล้วสังเกตบริเวณเข็มขัดนายพราน หรือบริเวณดาวเรียงกันสามดวงที่คนไทยเรียกว่า ดาวไถ จากนั้นให้ลากเส้นตามแนวของเข็มขัดนายพรานมาทางทิศตะวันตก จะเจอกับดาวฤกษ์ที่เรียงกันเป็นลักษณะคล้ายกับตัวอักษรภาษาอังกฤษรูปตัว V ขนาดใหญ่บนท้องฟ้า ซึ่งสามารถจินตนาการให้คล้ายกับหน้าของวัวได้ (เพราะมันคือกลุ่มดาววัว) จากนั้นลากเส้นผ่านดาวสีแดงที่สว่างที่สุด ซึ่งอยู่ในตำแหน่งคล้ายตาของวัว ชื่อว่าดาว “อัลดีบาแรน” (Aldebaran) ไปอีกเล็กน้อย จะเจอกับกระจุกดาวลูกไก่ที่อยู่บริเวณหลังของวัว

          ภาพนี้ถ่ายด้วยกล้อง DSLR ที่ใช้เวลาเก็บสัญญาณภาพรวมกว่า 7 ชั่วโมง เนื่องจากเนบิวลาสะท้อนแสงมีความสว่างน้อย และกล้องถ่ายภาพทั่วไปไม่ไวต่อแสงสีฟ้า จึงทําให้ต้องใช้เวลาในการถ่ายภาพนานมากขึ้น หรือต้องถ่ายภาพให้ได้เป็นจํานวนมาก จากนั้นจึงนําภาพทั้งหมดมารวมกันด้วยโปรแกรมต่อไป

          เนื่องจากกระจุกดาวลูกไก่สามารถสังเกตเห็นได้ทั่วโลก จึงมีชื่อเรียกและเรื่องเล่าตำนานที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม ทางสากลเรียกกระจุกดาวลูกไก่ว่า “พลียาดีส” (Pleiades) เป็นชื่อเรียกของกลุ่มนางอัปสรทั้ง 7 ตามตำนานกรีกโบราณ บางครั้งอาจได้ยินชื่อเรียกว่า “เจ็ดสาวพี่น้อง” (Seven Sisters) บ้าง ในขณะที่ชื่อ “กระจุกดาวลูกไก่” ของประเทศไทย มีที่มาจากตำนานของลูกไก่ 7 ตัวที่กระโดดเข้ากองไฟตามแม่ของตนที่ถูกฆ่า เทวดาที่เห็นถึงรักและกตัญญูจึงส่งให้ลูกไก่ทั้ง 7 ขึ้นไปเป็นดาวอยู่บนท้องฟ้า

          รายละเอียดการถ่ายภาพ

          – วันที่ถ่ายภาพ : 27 พฤศจิกายน 2562 / 16-17 ธันวาคม 2562

          – สถานที่ถ่ายภาพ : อ่างเก็บน้ำสหกรณ์ 6 เชียงใหม่

          – อุปกรณ์ถ่ายภาพ : กล้องดิจิทัล Nikon D750

          – เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : บันทึก 140 ภาพ ภาพละ 180 วินาที เวลารวม 7 ชั่วโมง

          – ความยาวโฟกัส : 250มม

          – ขนาดรูรับแสง : F4.9

          – ความไวแสง : 800

 

ภาพ : วชิระ โธมัส – ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทวัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects) การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ประจำปี ปี 2563

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า