ดาวหาง NEOWISE เหนือยอดภูเขาหิน Shiprock

 

          #ดาวหางนีโอไวส์ ผู้มาเยือนในปี 2020 เป็นอีกหนึ่งดาวหางที่ใครหลายคนมีโอกาสเห็นด้วยตาเปล่า แน่นอนว่าเมื่อบันทึกผ่านกล้องถ่ายรูปแล้วก็ทำให้เราได้เห็นรายละเอียดของดาวหางที่ดวงตาของเราไม่สามารถมองเห็นได้ เหมือนในภาพถ่ายใบนี้ของคุณวิศณุ บุญรอด และนี่คือ #ภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย ประจำสัปดาห์นี้

          ภาพนี้เป็นภาพถ่ายของดาวหาง C/2020 F3 (NEOWISE) หรือดาวหางนีโอไวส์ คู่กับยอดภูเขาหินชิปร็อค (Ship Rock) ณ รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา บันทึกเมื่อปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวหางเคลื่อนที่เข้ามาใกล้โลก อยู่ห่างจากโลกประมาณ 105 ล้านกิโลเมตร สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิท หากถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัลที่มีความไวแสงสูง จะสามารถสังเกตเห็นหางของดาวหางได้อย่างชัดเจน 

          ส่วนที่เราสังเกตเป็นส่วน “หัว” ของดาวหาง เรียกว่า “โคมา” (Coma) เกิดจากก้อนน้ำแข็งที่อยู่บริเวณใจกลาง (หรือที่เรียกว่านิวเคลียส) ได้รับรังสีและความร้อนจากดวงอาทิตย์ ส่งผลให้น้ำแข็งเกิดการระเหิดกลายเป็นแก๊ส พร้อมกับปลดปล่อยฝุ่นออกมารอบ ๆ กลายเป็นกลุ่มแก๊สและฝุ่นที่ฟุ้งสว่างล้อมรอบนิวเคลียสของดาวหาง ซึ่งหากใช้กล้องที่มีทางยาวโฟกัสสูง ๆ จะสามารถสังเกตเห็นหัวของดาวหางดวงนี้เป็นสีเขียวอีกด้วย เนื่องจากการเปล่งแสงของอะตอมคู่ของคาร์บอนที่ถูกปลดปล่อยออกมานั่นเอง ซึ่งมันจะถูกทำลายก่อนที่จะไปถึงหางของดาวหาง

          ดาวหางทั่วไปนั้นจะมีหางได้ 2 หาง นั่นคือหางฝุ่น (Dust tail) และหางแก๊ส (Ion tail) หางฝุ่นนั้นเกิดจากอนุภาคที่มีขนาดใหญ่ที่ปลดปล่อยออกมาจากอิทธิพลของลมสุริยะ และถูกทิ้งเอาไว้ตามรอยที่ดาวหางโคจรเคลื่อนที่ไป มักจะปรากฏเป็นเส้นโค้งตามแนวทางการเคลื่อนที่ของดาวหาง มีความฟุ้งสว่างมากที่สุด ขณะที่หางแก๊สหรือหางไอออนนั้นจะเป็นเส้นตรง เกิดจากอนุภาคของดาวหางที่แตกตัวเป็นไอออน ซึ่งจะถูกอิทธิพลของสนามแม่เหล็กและลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ จึงทำให้มีทิศทางชี้ออกจากดวงอาทิตย์เสมอ ซึ่งในภาพนี้สามารถมองเห็นหางทั้งสองแยกออกจากกันอย่างชัดเจน

          สำหรับการถ่ายภาพนี้ ผู้ถ่ายได้วางแผนล่วงหน้าเพื่อหาตำแหน่งในการวางกล้องเพื่อให้ได้จังหวะที่ดาวหางเคลื่อนตัวมาอยู่บริเวณยอดของหิน Shiprock ที่มีขนาดใหญ่มากจนสามารถสังเกตเห็นได้จากระยะไกลหลายสิบกิโลเมตรได้พอดี จากนั้นทำการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง 10 ใบ แล้วทำภาพโดยใช้เทคนิค median stacking ซึ่งจะช่วยลดสัญญาณรบกวน เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดและมีรายละเอียดที่ชัดเจนที่สุด

          ดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) เป็นดาวหางคาบยาว โคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 6,767 ปี ค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer : WISE) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นอินฟราเรดของโครงการสำรวจประชากรดาวเคราะห์น้อยและวัตถุใกล้โลก ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2020 และปรากฏสว่างจนสามารถสังเกตด้วยตาเปล่าได้ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมในปีเดียวกัน

 

          รายละเอียด

          – วัน / เดือน / ปี ที่ถ่ายภาพ : 19/7/2020

          – เวลา ที่ถ่ายภาพ : 23:15:00

          – สถานที่ถ่ายภาพ : New Mexico, USA

          – อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ : Nikon Z7

          – ขนาดหน้ากล้อง : f2.0

          – เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 8 sec x 10 shots

          – ความยาวโฟกัส : 35 mm

          – ความไวแสง : 8000

 

ภาพ : วิศณุ บุญรอด – ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2564 ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า