ปลายฤดู ที่ปลายนา วัดนาคูหา

          ภาพของสะพานไม้ที่ทอดยาวตัดผ่านทุ่งนา และดูราวกับว่าจะพาเราไปยังทางช้างเผือกนี้ มีชื่อภาพว่า “ปลายฤดู ที่ปลายนา วัดนาคูหา” เป็นผลงานของคุณวชิระ โธมัส ได้รับรางวัลชมเชย การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2564 ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์

          “ปลายฤดู” ในที่นี้หมายถึงช่วงปลายฤดูกาลของการสังเกตการณ์ใจกลางทางช้างเผือก นั่นคือช่วงเดือนพฤศจิกายน ใจกลางทางช้างเผือกจะปรากฏในช่วงหัวค่ำ วางตัวในแนวตั้งเฉียงขึ้นจากขอบฟ้าทางด้านทิศวันตกเฉียงใต้ หลังจากนั้นใจกลางทางช้างเผือกจะค่อย ๆ ตกลับขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันตกเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละวัน จนกระทั่งไม่สามารถสังเกตการณ์ได้ 

          ในภาพนี้ ใจกลางทางช้างเผือกในช่วงเดือนพฤศจิกายนนั้นมีตำแหน่งตรงกับปลายสะพานไม้ ณ วัดนาคูหา จ.แพร่ พอดี ซึ่งผู้ถ่ายต้องวางแผนเตรียมการถ่ายภาพไว้ล่วงหน้า เนื่องจากเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้ว ใจกลางทางช้างเผือกจะโผล่มาให้เห็นทันที และจะค่อย ๆ ตกลับขอบฟ้าไปภายในเวลา 1 ชั่วโมง เท่านั้น

          การถ่ายภาพนี้แบ่งออกเป็นสองชุด ชุดแรกคือการถ่ายฉากหน้าหรือบริเวณพื้นเป็นเวลา 1 นาที ชุดที่สองคือทางช้างเผือก หรือบริเวณท้องฟ้าทั้งหมดเป็นเวลา 1 นาที โดยต้องติดตั้งกล้องถ่ายรูปบนฐานอุปกรณ์ที่สามารถตามดาวได้ เพื่อให้ได้รายละเอียดของกลุ่มฝุ่นเนบิวลาและแก๊สใจกลางทางช้างเผือกมากที่สุด จากนั้นจึงนำภาพทั้งสองชุดมารวมกัน

          นอกจากใจกลางทางช้างเผือกแล้ว จุดสว่างเด่นสองจุดที่เห็นในภาพ เรียงลำดับจากบนลงล่างคือดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดี ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ดาวเคราะห์ทั้งสองเริ่มปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ เรียกว่าปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์” ก่อนจะเข้าใกล้กันที่สุดในรอบ 397 ปี ในวันที่ 20 – 23 ธันวาคม 2563 

          สำหรับผู้สนใจชื่นชมและถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือก ช่วงเดือนเมษายนนี้ใจกลางทางช้างเผือกจะปรากฏให้เห็นบริเวณขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงเวลาเที่ยงคืนเป็นต้นไป จนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าในรุ่งเช้า สามารถค้นหาสถานที่ถ่ายภาพทางช้างเผือกสวยๆ ได้ที่ #เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 12 แห่ง ที่รับประกันความมืดของท้องฟ้า ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://darksky.narit.or.th/ 

 

          รายละเอียดการถ่ายภาพ

          – วัน / เดือน / ปี ที่ถ่ายภาพ : 11/11/2020

          – เวลา ที่ถ่ายภาพ : 19:00:00

          – สถานที่ถ่ายภาพ : วัดนาคูหา อ.เมือง จ.แพร่

          – อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ : Nikon D750 / เลนส์ Sigma 14mm

          – ความยาวโฟกัส : 14มม

          – อัตราส่วนทางยาวโฟกัส : f/1.8

          -ความไวแสง : 800

 

ภาพ : วชิระ โธมัส  – ผู้ได้รับรางวัลชมเชย การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2564 ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า