เส้นโค้งจำนวนมากในภาพนี้คือ “เส้นแสงดาว” เหนือภูมิทัศน์สุดแปลกตาของเสาดินนาน้อย สถานที่ UNSEEN แห่งจังหวัดน่าน และหากสังเกตดี ๆ บริเวณกลางภาพเราจะเห็นเส้นตรงที่พุ่งเฉียงตัดกับเส้นอื่น ๆ นั่นคือหนึ่งในดาวตกของฝนดาวตกเจมินิดส์เมื่อปี 2562 ภาพนี้คือภาพที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2564 ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ เป็นผลงานการถ่ายภาพของคุณจิโรจน์ จริตควร
หนึ่งสิ่งที่สำคัญสำหรับการถ่ายภาพภาพเส้นแสงดาวคือต้อง “รู้ทิศ” เพราะจะเป็นตัวกำหนดลักษณะทิศทางการเคลื่อนที่ของเส้นแสงดาวบนท้องฟ้าในภาพถ่าย สำหรับภาพนี้การหันไปบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สังเกตได้จากเส้นแสงดาวด้านซ้ายของภาพที่หมุนวนรอบจุด ๆ หนึ่ง นั่นคือขั้วฟ้าเหนือ นอกจากนี้ จุดหมุนความสูงจากขอบฟ้าตามตำแหน่งละติจูดของสถานที่นั้น ๆ ยิ่ง สำหรับด้านขวาของภาพเป็นบริเวณทิศตะวันออก ยิ่งไกลจากทิศเหนือออกมาเรื่อย ๆ เส้นแสงดาวก็จะมีขนาดของวงกว้างขึ้นจนแทบเป็นแนวขวางในทิศตะวันออกและทิศตะวันตก
การถ่ายภาพเส้นแสงดาวนั้นต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะเป็นการบันทึกภาพการเปลี่ยนตำแหน่งของดาวบนท้องฟ้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับการหมุนรอบตัวเองของโลกโดยตรง ความยาวของเส้นแสงดาว 15 องศาบนท้องฟ้า จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หากต้องการเส้นแสงดาวยาวขึ้น ก็จะต้องใช้เวลาในการถ่ายนานขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อต้องใช้เวลาในการถ่ายที่ยาวนาน อีกหนึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือคุณภาพของท้องฟ้า ควรเลือกสถานที่ที่มีทัศนวิสัยท้องฟ้าดี มืดสนิทไร้แสงไฟรบกวน
สำหรับภาพนี้บันทึก ณ เสาดินนาน้อย อุทยานแห่งชาติศรีน่าน จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 13 จนถึงรุ่งเช้า 14 ธันวาคม 2562 คืนดังกล่าวมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ที่น่าติดตามเนื่องจากไร้แสงจันทร์รบกวน ผู้ถ่ายได้วางแผนล่วงหน้าทั้งเรื่องสถานที่ และหามุมถ่ายภาพที่เหมาะสมตั้งแต่ช่วงกลางวัน จากนั้นตั้งกล้องถ่ายเก็บภาพจนถึงรุ่งเช้า ได้ภาพรวมกว่า 700 ภาพ จากนั้นนำภาพทั้งหมดมารวมกันด้วยวิธีการ Stacking เกิดเป็นภาพเส้นแสงดาวที่แสดงให้เห็นว่าโลกหมุนรอบตัวเอง อีกทั้งยังมีเส้นฝนดาวตกเจมินิดส์ปรากฏอยู่บริเวณกลางภาพอีกด้วย
รายละเอียดการถ่ายภาพ
– วัน / เดือน / ปี ที่ถ่ายภาพ : 13/12/2020
– เวลา ที่ถ่ายภาพ : 20:30:00
– สถานที่ถ่ายภาพ : เสาดินนาน้อย ตำบลนาน้อย อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน
– อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ Camera : Sony A7R (Full spectrum), Sigma 12-24mm f/4 DG HSM(A)
– เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 35 Sec
– ความยาวโฟกัส : 12 mm
– อัตราส่วนทางยาวโฟกัส : F4
– ความไวแสง : 3200
– ฟิลเตอร์ : Optilong L-Pro
ภาพ : จิโรจน์ จริตควร – ผู้ได้รับรางชนะเลิศ การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2564 ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์