ภาพของ #ฝนดาวตกเจมินิดส์ สุดตระการตา พร้อมแนวทางช้างเผือกพาดผ่านฟ้า เหนือมวลหมู่ต้นนางพญาเสือโคร่ง ณ ภูลมโล จ.พิษณุโลก เป็นอีก #ภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2564 ผลงานของคุณนราธิป รักษา
“ฝนดาวตกเจมินิดส์” เกิดจากการที่โลกโคจรเข้าตัดกับสายธารเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ที่ทิ้งไว้ขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ (Fireball) มีศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 4-17 ธันวาคมของทุกปี และมักมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงวันที่ 13-14 ธันวาคม เฉลี่ยประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง
นอกจากฝนดาวตกเจมินิดส์แล้ว ในภาพนี้ยังสามารถสังเกตแนวทางช้างเผือกพาดผ่าน ซึ่งไม่ใช่บริเวณใจกลางทางทางช้างเผือก ปกติแล้วจะสังเกตด้วยตาเปล่าได้ยาก แต่เนื่องจากผู้ถ่ายใช้เวลาในการเปิดหน้ากล้องเป็นเวลานาน จึงเผยให้เห็นแนวทางช้างเผือกได้ นอกจากนี้ยังเห็นวัตถุที่มีแสงสว่างริบหรี่อย่างกลุ่มวัตถุในห้วงอวกาศลึกปรากฏออกมาให้เห็น เป็นกลุ่มฝุ่นแก๊สสีแดงเด่นชัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณพื้นหลัง รอบๆ กลุ่มดาวนายพราน เรียกว่า Barnard’s Loop
สำหรับสถานที่ถ่ายภาพนี้แบ่งเป็น 2 แห่ง โดย คืนที่ 12 – 13 ธ.ค. 63 ถ่ายภาพ ณ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า, คืนที่ 13 – 14 ธ.ค. 63 ถ่ายภาพ ณ ภูลมโล จ.พิษณุโลก ในส่วนของวิธีการถ่ายภาพแบ่งออกเป็นสามส่วนได้แก่ #ภาพฉากหน้า เป็นต้นนางพญาเสือโคร่งเบ่งบานเป็นสีชมพูอยู่ทั่วบริเวณถ่ายช่วงแสงสนธยาก่อนเช้าวันที่ 14 ธ.ค. 63 #ท้องฟ้า ถ่ายภาพรวม 20 รูป และ #ดาวตก ใช้ภาพจากทั้งสองสถานที่ ในคืนที่ 12 และ 13 ธ.ค. 63 จากนั้นจึงนำภาพทั้งสามส่วนมารวมกัน
รายละเอียดการถ่ายภาพ
– เดือน/ปี ที่ถ่ายภาพ : เดือนธันวาคม 2020
– สถานที่ถ่ายภาพ : คืน 12-13 ธ.ค. 63 ถ่ายดาวตก ณ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และคืน 13-14 ธ.ค. 63 ถ่ายฉากหน้า และดาวตก ณ ภูลมโล จ.พิษณุโลก
– อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ : EOS 800D modded / Tokina 11-16 mm F2.8 @14mm / 30 sec / ISO3200, 12800 / IDAS-LPS-D1 / Soft filter/ tracked EOS 8000D modded / Samyang 14mm F2.8 @14mm / 17 sec / ISO6400/ IDAS-LPS-D1/ untracked
– เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 17-30sec
– ความยาวโฟกัส : 14mm
– อัตราส่วนทางยาวโฟกัส : F2.8
– ความไวแสง : ISO 3200-6400
– ฟิลเตอร์ : IDAS-LPS-D1
ภาพ : นายนราธิป รักษา – ผู้ได้รับรางวัลรางวัลชมเชย การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2564 ประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์