ยอยักษ์กับทางช้างเผือก

          “ยอยักษ์” ในภาพนี้ที่ไม่ได้หมายถึงพยัญชนะไทยตัวที่ 34 แต่หมายถึงเครื่องมือจับสัตว์น้ำขนาดใหญ่อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง และยิ่งดูใหญ่ขึ้นไปอีกเมื่ออยู่คู่กับภาพของใจกลางทางช้างเผือกสุดอลังการบนฟ้าเช่นนี้

          นี่คือ #ภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย ประจำสัปดาห์นี้ ผลงานของคุณณภัทรกาญจน์ กาญจน์อุดมฤกษ์ ซึ่งภาพนี้ได้รับรางวัลชมเชย การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2563 ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์

          ใจกลางทางช้างเผือกที่เห็นในภาพนี้ เป็นช่วงเดือนสิงหาคม ช่วงดังกล่าวสามารถเห็นใจกลางทางช้างเผือกได้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเป็นต้นไป แนวพาดผ่านของใจกลางทางช้างเผือกจะปรากฏเฉียงจากขอบฟ้าทิศใต้ ไปบรรจบยังขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นใจกลางทางช้างเผือกจะค่อย ๆ ตั้งฉากกับทิศใต้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเวลาประมาณ 22:00 น. จะมาตั้งฉากในลักษณะเดียวกันกับในภาพนี้

          นอกจากใจกลางทางช้างเผือกแล้ว จุดสว่างเด่นสองจุดที่เห็นในภาพ เรียงลำดับจากบนลงล่างคือดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดี บริเวณด้านขวาของใจกลางทางช้างเผือกยังสังเกตเห็นดาวฤกษ์สีส้มชื่อว่า “แอนทาเรส” หรือ “ดาวหัวใจแมงป่อง” ซึ่งเป็นดาวฤกษ์สว่างเด่นในกลุ่มดาวแมงป่อง ล้อมรอบไปด้วยกลุ่มฝุ่นแก๊สสีแดง ที่มีแสงสว่างริบหรี่ “เนบิวลา” เป็นวัตถุในห้วงอวกาศลึกที่ต้องอาศัยความมืดของท้องฟ้าที่เพียงพอ และการถ่ายภาพแบบเปิดหน้ากล้องเป็นเวลานานจึงจะสามารถเห็นได้

          การถ่ายภาพนี้แบ่งออกเป็นสองชุด ชุดแรกคือการถ่ายฉากหน้าหรือบริเวณพื้น ชุดที่สองคือทางช้างเผือก หรือบริเวณท้องฟ้าทั้งหมด โดยต้องติดตั้งกล้องถ่ายรูปบนฐานอุปกรณ์ที่สามารถตามดาวได้ เพื่อให้ได้รายละเอียดของกลุ่มฝุ่นเนบิวลาและแก๊สใจกลางทางช้างเผือกมากที่สุด จากนั้นจึงนำภาพทั้งสองชุดมารวมกัน

          ยอยักษ์ หรือ ยอ เป็นอุปกรณ์สำหรับดักจับปลาขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณคลองปากประ จังหวัดพัทลุง สร้างขึ้นจากไม้ไผ่และเชือก ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากและดูสวยงามแปลกตา อยู่คู่กับชาวบ้านมาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะการล่องเรือชมยอยักษ์คู่กับแสงแรกของวันด้วยตาตัวเองสักครั้ง

          สำหรับผู้สนใจชื่นชมและถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือก ช่วงเดือนมิถุนายนนี้ใจกลางทางช้างเผือกจะปรากฏให้เห็นบริเวณขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าเป็นต้นไปตลอดทั้งคืน จนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าในรุ่งเช้า สามารถค้นหาสถานที่ถ่ายภาพทางช้างเผือกสวยๆ ได้ที่ #เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 12 แห่ง ที่รับประกันความมืดของท้องฟ้า ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://darksky.narit.or.th/ 

 

          รายละเอียดการถ่ายภาพ

          – วันที่ถ่ายภาพ : 15 สิงหาคม 2563 

          – เวลา : 22:00 น.

          – สถานที่ถ่ายภาพ : ปากประ จ.พัทลุง

          – อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ : Nikon D750

          – เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 120 sec

          – ความยาวโฟกัส : 14 mm

          – ขนาดรูรับแสง : f4

          – ความไวแสง : ISO2000

 

ภาพ : ณภัทรกาญจน์ กาญจน์อุดมฤกษ์ – ผู้ได้รับรางวัลชมเชย การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2563 ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า