ภาพที่เห็นอยู่นี้ไม่ใช่เพียงภาพดาวฤกษ์มากมายที่กระจัดกระจายอยู่เต็มท้องฟ้า แต่มีรูปทรงสามเหลี่ยมซ่อนอยู่
สามเหลี่ยมนี้เกิดจากการลากเส้นสมมติระหว่างดาวฤกษ์ที่สว่างเด่นที่สุด 3 ดวงด้วยกัน ดวงแรกอยู่ด้านบนของภาพ มีชื่อว่า “Vega” ดวงถัดไปอยู่บริเวณด้านขวาล่างของภาพ ชื่อว่า “Altair” และดวงสุดท้ายอยู่บริเวณด้านซ้ายล่าง ชื่อว่า “Deneb” ดาวฤกษ์ทั้ง 3 อยู่ในกลุ่มดาวพิณ กลุ่มดาวนกอินทรีย์ และกลุ่มดาวหงส์ ตามลำดับ เมื่อลากเส้นเชื่อมต่อดาวฤกษ์ทั้งสาม จะเกิดเป็น “สามเหลี่ยมฤดูร้อน (Summer Triangle)” ขึ้น
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราสังเกตเห็นสามเหลี่ยมฤดูร้อนขึ้นจากขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันออกในช่วงหัวค่ำ หมายความว่าเราเข้าสู่ฤดูร้อนทางดาราศาสตร์แล้ว ซึ่งจะตรงกับฤดูฝนในประเทศไทย
นอกจากดาวสว่างเด่นแล้ว ยังมีแถบกลุ่มเมฆฝ้าบางๆ พาดผ่านระหว่างสามกลุ่มดาวนี้ เรียกว่า ทางช้างเผือก นั่นเอง หากท้องฟ้ามืดสนิทไร้แสงรบกวน ก็จะสามารถสังเกตเห็นได้ไม่ยาก
นอกจากนี้หากสังเกตบริเวณกลุ่มดาวหงส์จะพบกับวัตถุในห้วงอวกาศลึกที่เรียกว่า เนบิวลา ที่มีลักษณะสีชมพูปรากฏอยู่ บริเวณใกล้ๆ กับดาว Deneb หรือหางของหงส์ ประกอบไปด้วยเนบิวลาอเมริกาเหนือ (North America Nebula) และเนบิวลาเพลิแกน (Pelican Nebula) ส่วนบริเวณลำตัวของหงส์จะเป็นเนบิวลาผีเสื้อ (Butterfly Nebula)
ภาพนี้ถ่าย ณ สถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทปราศจากแสงเมืองรบกวนของ Upper Peninsula รัฐมิชิแกน และเนื่องจากส่วนของทางช้างเผือกในภาพไม่ใช่บริเวณใจกลางของทางช้างเผือก จึงมีความสว่างไม่มากนัก หากจะถ่ายให้เห็นรายละเอียดของแถบฝุ่นในทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจนนั้น จะต้องใช้ระยะเวลาเปิดหน้ากล้องเป็นเวลานาน ภาพนี้จึงอาศัยอุปกรณ์ติดตามดาว และเปิดหน้ากล้องเป็นระยะเวลาติดต่อกันถึง 5 นาที ที่ค่ารูรับแสงกว้างที่สุด เพื่อให้ดาวที่มีแสงสว่างริบหรี่เกินกว่าที่ตามองเห็น สามารถปรากฏออกมาให้เห็นในภาพได้ แต่ในขณะเดียวกันดาวฤกษ์สว่างเด่นทั้งสามดวงก็จะถูกกลืนไปกับดาวฤกษ์อื่นๆ ในภาพด้วย จึงต้องถ่ายภาพอีกภาพหนึ่งผ่านแผ่นกรองแสง soft filter จะทำให้แสงดาวดวงที่สว่างมากๆ ฟุ้งออกเป็นวงกว้างได้ จากนั้นจึงนำภาพทั้งสองมาซ้อนกัน เพื่อให้ได้ภาพของดาวทั้งสามดวงกับแถบทางช้างเผือกอยู่ในภาพเดียวกัน
ในช่วงนี้เราสามารถเห็นสามเหลี่ยมฤดูร้อนได้ง่ายๆ ตั้งแต่เวลาประมาณ 21.00 น. เป็นต้นไปทางด้านทิศตะวันออก นอกจากนี้กลุ่มดาวทั้ง 3 ยังมีเรื่องเล่า นิทานดาวเพื่อเพิ่มอรรถรสในการดูดาว หากใครสนใจสามารถอ่านได้จากลิงก์นี้ https://www.facebook.com/NARITpage/photos/a.148308931899396/3279648002098791
ภาพ : มติพล ตั้งมติธรรม – นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร.
เรียบเรียง : ศิวรุต พลอยแดง – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.