ในวันใดที่ทัศนวิสัยท้องฟ้าดี ขอให้ทุกคนเดินไปหยิบกล้องถ่ายรูป เคลียร์เมมโมรีการ์ดกันสักเล็กน้อย เพราะการถ่ายภาพดาวที่จะกล่าวถึงในเนื้อหาต่อไปนี้ ต้องใช้พื้นที่เก็บภาพจำนวนมากเป็นพิเศษ นั่นก็คือ การถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Star trails)
จากนั้น ค้นหาสถานที่ที่เหมาะสมในการถ่ายภาพและวางแผนการเดินทาง การสร้างสรรค์ภาพเส้นแสงดาวนั้น จะต้องถ่ายภาพต่อเนื่องและนำภาพที่ได้มาต่อรวมกันด้วยซอฟต์แวร์ทางดาราศาสตร์ ภาพที่ได้หลังจากการต่อภาพจะแสดงให้เห็นเส้นแสงดาวเคลื่อนที่เป็นทางยาว เป็นผลจากการหมุนรอบตัวเองของโลก ซึ่งเส้นแสงดาวจะมีความยาวมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับเวลาที่เราใช้ในการถ่าย
เสน่ห์ของภาพเส้นแสงดาว คือแต่ละทิศทางของหน้ากล้องที่เราหันไป รวมถึงละติจูดของสถานที่นั้น ๆ จะส่งผลให้ลักษณะของเส้นแสงดาวแตกต่างกัน แต่ทุกมุมมองล้วนแล้วแต่มีความสวยงามทางศิลปะ และใช้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการอธิบายกลไกการหมุนของทรงกลมท้องฟ้าอีกด้วย
สำหรับ “สวิตเซอร์แลนด์แดนใต้” ในภาพที่เห็นนี้ คนใต้เรียกกันอย่างนั้น แต่แท้จริงแล้วที่นี่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “เหมืองลิวงค์” ตั้งอยู่ในเขตอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา สภาพพื้นที่คือเหมืองเก่า มีน้ำขังสีเขียวสวยงาม มีไอหมอกในตอนเช้า มีต้นสนสวยงาม ชาวใต้เราอนุมานว่านี่คือสวิตเซอร์แลนด์ สามารถภาพได้หลากหลายมุม หลากหลายช่วงเวลา เรียกได้ว่า จบครบในที่เดียว
เหมืองลิวงค์ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์แห่งหนึ่งของภาคใต้ที่ยังมีแสงรบกวนยังไม่มากนัก ภาพนี้หันหน้ากล้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เล็กน้อย ทำให้เห็นเส้นแสงดาวพุ่งขึ้นจากขอบฟ้า ภาพนี้ผู้ถ่ายใช้เวลาในการถ่ายภาพประมาณ 2 ชั่วโมง เนื่องจากในวันที่เดินทางไปถ่ายนั้นเป็นช่วงมรสุมของภาคใต้ มีฝนตกชุก เป็นเหตุให้ผู้ถ่ายไม่สามารถถ่ายภาพนานกว่านี้ได้
ในมุมของผู้ถ่ายภาพ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงสำหรับการถ่ายภาพเส้นแสงดาวนั้น คงเป็นเรื่องของทัศนวิสัยท้องฟ้า ฉากหน้า รูรับแสง และ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกล้องอุปกรณ์คู่ใจของเรา
เรื่องทัศนวิสัยท้องฟ้า เป็นที่แน่ชัดว่ามันเป็นปัจจัยเริ่มต้นในการตัดสินใจว่าจะออกไปถ่ายภาพหรือไม่ นอกจากเมฆหนา ฝนตก พายุเข้าอยากให้ทุกคนคำนึงถึงแสงสว่างที่เกินความจำเป็นที่จะไปกลบแสงดาวจนเหลือเพียงไม่กี่ดวงเท่านั้น ยิ่งมืดยิ่งก็จะยิ่งเห็นความอลังการของท้องฟ้า
สำหรับฉากหน้า ขึ้นอยู่กับความชอบ ความคิดสร้างสรรค์ การจัดองค์ประกอบภาพของผู้ถ่ายแต่ละคนต่างกัน มุมมองต่างแนวคิดต่างเป็นเรื่องปกติทั่วไป (แต่ต้องมองเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินด้วยนะครับ) อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการถ่ายภาพเส้นแสงดาว นั้นสามารถจัดการกับฉากหน้าได้ง่ายกว่า เพราะจะต้องเปิดหน้ากล้องยาวนานตั้งแต่ 30 วินาทีเป็นต้นไป ซึ่งเราสามารถใช้ ISO ไม่มากเกินไปทำให้เกิดสัญญาณรบกวนน้อย
ในส่วนของรูรับแสง หากเราเปิดรูรับแสงกว้างก็จะทำให้กล้องสามารถบันทึกแสงของดาวได้มากขึ้น เราจะเห็นดาวจำนวนมาก แต่สำหรับการถ่ายภาพเส้นแสงดาว หากเราอยู่ในสถานที่ถ่ายดาวที่มืดมากพอซึ่งเห็นดาวจำนวนมากอยู่แล้ว เราอาจจะไม่จำเป็นต้องจะต้องเปิดรูรับแสงกว้างเกินไป เพราะเราจะได้เส้นแสงดาวจำนวนมากและแน่นมากเกินไป
สุดท้ายสิ่งที่อยากฝากมากๆ สำหรับคนที่อยากถ่ายภาพกลางคืน ผมอยากให้ทุกคนทำความรู้จักอุปกรณ์ของเราเป็นอย่างดีก่อนที่จะออกไปถ่ายภาพในเวลากลางคืน ฝึกโฟกัส ฝึกปรับตั้งค่าต่าง ๆ ให้คุ้นชินเพราะการใช้กล้องถ่ายภาพในเวลากลางคืนอาจจะมีความยากขึ้นสองเท่าตัวเลยก็ว่าได้ และหากหลงใหลในตัวอย่างภาพที่นำเสนอทุกท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ภาพด้านดาราศาสตร์ในเว็บไซต์ของ NARIT ได้ หรืออีกหลายแหล่งข้อมูลทางสื่อโซเชียล เท่านี้ทุกท่านน่าจะได้เก็บภาพที่มีความสวยงามของดวงดาวในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมทั้งความประทับใจอย่างมิรู้ลืม
ภาพ : ธีรยุทธ์ ลอบลิบ – หัวหน้าหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา