#ภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย ประจำสัปดาห์นี้ พบกับ “แสงจักรราศี” ณ ม่อนจอง จ.เชียงใหม่ ผลงานภาพถ่ายฝีมือคุณจิโรจน์ จริตควร ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2563 ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์
ภาพที่เห็นอยู่นี้คือแสงจักรราศีคู่กับเหล่านักท่องเที่ยวที่มีความสนใจในเรื่องดวงดาว และตั้งใจขึ้นมาที่ยอดดอยม่อนจองเพื่อถ่ายภาพดาราศาสตร์ พร้อมฟังการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งในภาพเป็นจังหวะที่แนวของแสงจักรราศีที่ชี้พุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าพอดี
#แสงจักรราศี (Zodiac Light) เป็นแสงเรืองจาง ๆ คล้ายรูปสามเหลี่ยม ปรากฏทางท้องฟ้าทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า และจะปรากฏทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า ชี้ไปตามแนวเส้นสุริยะวิถี มีความสว่างไม่มากนัก เกิดจากฝุ่นละอองในระนาบของระบบสุริยะที่อยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ เช่น ฝุ่นจากดาวหาง หรือฝุ่นจากดาวเคราะห์น้อย กระทบกับแสงจากดวงอาทิตย์แล้วสะท้อนมายังโลก ถือเป็นแสงที่ไม่เห็นได้ง่ายนัก จะต้องอยู่สถานที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิท และไม่มีมลภาวะทางแสงรบกวนบริเวณขอบฟ้าจึงจะสังเกตได้
ช่วงเวลาที่ถ่ายภาพนี้คือช่วงค่ำของเดือนกุมภาพันธ์ทางทิศตะวันตก บริเวณขอบฟ้ามีแสงสีส้มเหลืองเรือง ๆ อยู่ เรียกว่า แสงสนธยา (Twilight) เมื่อมองขึ้นไปบนท้องฟ้าที่เริ่มมืด ก็จะเห็นว่าเต็มไปด้วยหมู่ดาวและวัตถุท้องฟ้ามากมาย หากสังเกตทางด้านขวาของภาพจะพบวัตถุที่มีจุดสว่างเด่นและมีแสงจาง ๆ อยู่รอบ นั่นคือ “กาแล็กซีแอนโดรเมดา” เป็นวัตถุในห้วงอวกาศลึกที่อยู่ในกลุ่มดาวแอนโดรเมดา สามารถเห็นได้ด้วยด้วยตาเปล่า มองถัดขึ้นมาบริเวณปลายแสงจักรราศี จะเห็นกลุ่มดาวฤกษ์ที่รวมตัวกันเป็นกระจุกเด่นชัด นั่นคือ “กระจุกดาวลูกไก่” ซึ่งเป็นกระจุกดาวเปิดในกลุ่มดาววัว
รายละเอียดการถ่ายภาพ
– วันที่ถ่ายภาพ : 16 กุมภาพันธ์ 2561
– เวลา : 19.40 น.
– สถานที่ถ่ายภาพ : ดอยม่อนจอง ตำบล ม่อนจอง อำเภออมก๋อย เชียงใหม่
– อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ : Canon 5DM3 Lens Sigma 14 F1.8 ART
– เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 15 วินาที
– ความยาวโฟกัส : 14 mm
– ขนาดรูรับแสง : F1.8
– ความไวแสง : 3,200
ภาพ : จิโรจน์ จริตควร – ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2563 ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์