แสงดาว ที่ละลุ ดินแดนมหัศจรรย์ ตาพระยา ไทยแลนด์

          “ละลุ” ดินแดนมหัศจรรย์แห่งจังหวัดสระแก้ว เดิมทีก็มีทัศนียภาพที่แปลกตาอยู่แล้ว และยิ่งเมื่อมี #เส้นแสงดาว ปรากฏอยู่บนฟ้าเช่นนี้ด้วย แทบจะทำให้เราลืมไปเลยว่าสถานที่แห่งนี้มีอยู่จริงบนโลก นี่คือผลงานการถ่ายภาพของคุณวรวิทย์ จุลศิลป์ และเป็นภาพที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2563 ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์

          “เส้นแสงดาว” เป็นเทคนิคการถ่ายภาพรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ดาวบนฟ้าปรากฏเป็นเส้นยาว มีสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ “ทิศ” เพราะจะเป็นตัวกำหนดลักษณะทิศทางการเคลื่อนที่ของแสนแสงดาวในภาพ ซึ่งเกิดจากการที่โลกหมุนรอบแกนของตัวเอง เช่นในภาพนี้เป็นท้องฟ้าบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สังเกตได้จากเส้นแสงดาวด้านซ้ายล่างของภาพที่หมุนวนรอบจุด ๆ หนึ่ง บริเวณนั้นคือขั้วฟ้าเหนือนั่นเอง ซึ่งจะมีตำแหน่งสูงจากขอบฟ้าตามตำแหน่งละติจูดของสถานที่นั้น ๆ ส่วนด้านขวาของภาพจะเป็นบริเวณทิศตะวันออก สังเกตได้ยิ่งไกลจากทิศเหนือออกมาเรื่อย ๆ เส้นแสงดาวจะมีขนาดของวงกว้างขึ้นจนบรรจบกับพื้นดินในแนวตั้งจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตก

          การถ่ายภาพเส้นแสงดาวนั้นต้องใช้เวลานานพอสมควรในการถ่าย เนื่องจากเราบันทึกการเปลี่ยนตำแหน่งของดาวบนท้องฟ้า จึงต้องรอเวลาที่โลกค่อย ๆ หมุนรอบตัวเอง ความยาวของเส้นแสงดาว 15 องศาบนท้องฟ้า จะใช้เวลาบันทึกประมาณ 1 ชั่วโมง หากต้องการเส้นแสงดาวยาวขึ้นก็ต้องใช้เวลาถ่ายนานขึ้นไปเรื่อย ๆ ดังเช่นภาพนี้ที่เส้นแสงดาวปรากฏเป็นเส้นยาว ใช้เวลาถ่ายภาพมากถึง 8 ชั่วโมง 29 นาที ด้วยจำนวนทั้งหมด 962 ภาพ ภาพละ 30 วินาที

          เมื่อต้องใช้เวลาในการถ่ายที่ยาวนาน อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลเข้ามาคือคุณภาพของท้องฟ้า ต้องเลือกสถานที่ที่มีทัศนวิสัยท้องฟ้าดี เปิดโล่งรอบทิศทาง และมีความมืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน ดังเช่นภาพนี้ที่ถ่าย ณ ละลุ ต. ทัพราช อ. ตาพระยา จ. สระแก้ว

          “ละลุ” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ทะลุ” เป็นหนึ่งในสถานที่ Unseen ของประเทศไทย มีลักษณะคล้ายกับ “แพะเมืองผี” ของ จ. แพร่ หรือ “เสาดินนาน้อย” จ. น่าน เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา เมื่อเกิดการถล่มของหน้าดิน ชั้นที่แข็งกว่าจะยังคงตัวอยู่ด้านบน ส่วนชั้นด้านล่างที่อ่อนกว่าจะถูกลม และฝนกัดเซาะไปเรื่อย ๆ ใช้เวลานับล้านปี เกิดเป็นประติมากรรมดินรูปทรงสวยงามแปลกตา กระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ บนพื้นที่ประมาณกว่า 2,000 ไร่ ปรากฏเป็นรูปร่างคล้ายเจดีย์ ปราสาท ดอกเห็ด กำแพง ขึ้นอยู่กับจินตนาการที่ต่างกันออกไปของแต่ละคน 

 

          รายละเอียดการถ่ายภาพ

          – วันที่ถ่ายภาพ : 24 กุมภาพันธ์ 2563 

          – เวลา : 18.47 – 03.16 น.

          – สถานที่ถ่ายภาพ : ละลุ อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว

          – อุปกรณ์ถ่ายภาพ : Camera Canon EOS R, Lens Canon 16-35 F2.8L II

          – เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 30 วินาที จำนวน 962 ใบ 8 ชั่วโมง 29 นาที

          – ความยาวโฟกัส : 16mm

          – ขนาดรูรับแสง : F3.2

          – ความไวแสง : 400

 

ภาพ : วรวิทย์ จุลศิลป์ – ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2563 ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า