ใกล้เทศกาลคริสต์มาสแล้ว ! #ภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย ประจำสัปดาห์นี้ นำภาพถ่ายของดาวหาง C/2021 A1 Leonard ที่ดูละม้ายคล้ายกับต้นคริสต์มาสมาฝาก บันทึกเมื่อช่วงหัวค่ำของวันที่ 3 มกราคม 2565 โดยคุณนราธิป รักษา เจ้าของรางวัลชมเชยการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2565 ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ
ดาวหาง C/2021 A1 (Leonard) เป็นดาวหางคาบยาว ค้นพบเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 โดย G. J. Leonard จาก Mount Lemmon Observatory เข้าใกล้ดวงอาทิตย์และสามารถสังเกตด้วยตาเปล่าในช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันคริสต์มาส จึงมีชื่อเล่นว่าดาวหางคริสต์มาสอีกด้วย นับเป็นดาวหางที่สว่างที่สุดที่สามารถสังเกตได้แห่งปี 2564
ดาวหาง คือก้อนน้ำแข็งที่ประกอบขึ้นจากฝุ่นละออง น้ำแข็ง แอมโมเนีย และสารอินทรีย์อื่น ๆ เปรียบได้กับก้อนน้ำแข็งสกปรกที่ลอยเคว้งอยู่ในอวกาศ ส่วนที่เป็นก้อนน้ำแข็งนี้ว่า “นิวเคลียส” (nucleus) เมื่อนิวเคลียสเคลื่อนที่เข้าใกล้ดาวอาทิตย์ รังสีจากดวงอาทิตย์จะทำให้น้ำแข็งในนิวเคลียสระเหิดเป็นไอฟุ้งออกไปในอวกาศทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เกิดเป็นกลุ่มหมอกทรงกลมหรือทรงรีที่ล้อมรอบนิวเคลียส เรียกว่า “โคมา” (coma) และขณะที่ดาวหางโคจรไปรอบ ๆ ระบบสุริยะ ฝุ่นและแก๊สเหล่านี้จะฟุ้งกระจายทอดยาวไปในอวกาศ เรียกว่า “หาง” (tail) ซึ่งอาจยาวได้ถึงล้านกิโลเมตร ยิ่งเข้าใกล้ดวงอาทิตย์เท่าใด ฝุ่นและแก๊สก็จะยิ่งฟุ้งกระจายมากยิ่งขึ้น และสะท้อนแสงได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ช่วงที่ดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเป็นช่วงที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์มากที่สุดนั่นเอง
นอกจากนี้ หากสังเกตส่วนหัวของดาวหางจะมีลักษณะออกไปทางสีเขียว เกิดจากโมเลกุลสารประกอบจำพวกไซยาโนเจน (CN) และสารประกอบที่มีคาร์บอนสองอะตอม (C2) กระทบกับแสงยูวีจากดวงอาทิตย์ จากนั้นปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสงสีเขียวอมฟ้า
สำหรับการถ่ายภาพนี้เริ่มต้นจากการใช้โปรแกรม SGPro ในการวางแผนการถ่ายจัดวางองค์ประกอบล่วงหน้า จากนั้นใช้เทคนิคการถ่ายภาพซ้อน (Multiple Exposure) ถ่ายภาพจำนวน 25 ภาพ ใช้เวลาเปิดหน้ากล้องภาพละ 60 วินาที จากนั้นจึงทำการรวมภาพทั้งหมดเพื่อเพิ่มรายละเอียดของวัตถุ
รายละเอียดการถ่ายภาพ
– วันที่ถ่ายภาพ : 3 มกราคม 2022 เวลา 18:50 น.
– สถานที่ถ่ายภาพ : อ.นาแก จ.สกลนคร
– อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายถาพ : QHY268C / ES102mm FCD100 CF / Stellarvue 0.8X Reducer
– ความไวแสง : gain 60
– เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 60sec x 25, gain 60 /-10C / BIN1x1/Bias, Flat calibrated, No dark
– ขนาดหน้ากล้อง : 102mm
– ความยาวโฟกัส : 570mm
– อัตราส่วนความยาวโฟกัส : F7 + Stellarvue 0.8X Reducer
– ฟิลเตอร์ : Astronomik L2 UV/IR cut
ภาพ : นราธิป รักษา – ผู้ได้รับรางวัลชมเชยการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2565 ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ