ในกลุ่มดาวนายพราน (Orion) นั้นมีเนบิวลาซ่อนตัวอยู่มากมาย และภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทยภาพนี้ก็เผยให้เห็นเนบิวลาเหล่านั้นที่ดวงตาของเราไม่สามารถมองเห็นได้ในบริเวณใกล้รอบ ๆ ดาว Alnitak นี่คือผลงานของคุณวชิระ โธมัส ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2565 ประเภทวัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects)
สำหรับภาพนี้ เราจะเห็น 3 เนบิวลาของกลุ่มดาวนายพราน ประกอบด้วย เนบิวลา M78 เนบิวลาเปลวเพลิง (Flame nebula) และ เนบิวลารูปหัวม้า (Horsehead nebula) เรียงตัวอยู่ใกล้กับดาว Alnitak หรือบริเวณเข็มขัดของกลุ่มดาวนายพราน กินพื้นที่บนท้องฟ้าประมาณ 5 องศา
เนบิวลา คือกลุ่มฝุ่นและแก๊สขนาดใหญ่ที่ล่องลอยอยู่ในอวกาศ บ้างก็กำลังกระจัดกระจายออกไปทุกทิศทาง บ้างก็กำลังรวมตัวกันด้วยแรงดึงดูดระหว่างมวล ซึ่งหากรวมตัวกันจนมีความหนาแน่นมากพอ จะก่อกำเกิดเป็นดาวฤกษ์ดวงใหม่ขึ้น และสสารที่เหลืออยู่อาจกลายเป็นดาวเคราะห์หรือวัตถุอื่น ๆ ภายในบริเวณนั้น
เนบิวลาแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เนบิวลาเปล่งแสง (Emission nebula) เนบิวลาสะท้อนแสง (Reflection nebula) และเนบิวลามืด (Dark nebula) สำหรับในภาพนี้มีเนบิวลาอยู่ครบทั้ง 3 ประเภท
- เนบิวลาเปลวเพลิง เป็นประเภทเนบิวลาเปล่งแสง มีแสงสว่างในตัวเอง เกิดจากการเรืองแสงของอะตอมของไฮโดรเจนที่แตกตัวเป็นไอออน เนื่องจากได้รับพลังงานจากดาวฤกษ์ภายในเนบิวลา ส่วนพื้นที่สีแดงคล้ายเปลวเพลิงเกิดจากการปลดปล่อยรังสีของดาว Alnitak ที่อยู่ใกล้เคียง
- M78 เป็นประเภทเนบิวลาสะท้อนแสง กลุ่มแก๊สเหล่านี้จะไม่ได้เรืองแสงด้วยตัวเอง แต่เกิดจากแสงดาวฤกษ์ที่ตกกระทบกลุ่มแก๊สและฝุ่นเหล่านี้ แล้วเกิดจากการสะท้อนแสงและการกระเจิงแสงขึ้น และส่วนมากเนบิวลาประเภทนี้จะมีสีฟ้า เนื่องจากกระบวนการกระเจิงแสงดังกล่าว เป็นกระบวนการที่คล้ายกับการกระเจิงแสงในชั้นบรรยากาศโลก ที่ทำให้ท้องฟ้าตอนกลางวันมีสีฟ้า
- เนบิวลารูปหัวม้า เป็นประเภทเนบิวลามืด มีองค์ประกอบหลักเป็นฝุ่นหนาเช่นเดียวกับเนบิวลาสะท้อนแสง แต่เนบิวลามืดนี้ไม่มีแหล่งกำเนิดแสงอยู่ใกล้เคียง จึงทำให้ไม่มีแสงสว่าง แต่จะสามารถสังเกตเห็นได้ก็ต่อเมื่อมีเนบิวลาสว่าง หรือดาวฤกษ์จำนวนมากอยู่เป็นฉากหลัง ก็จะทำให้มองเห็นเป็นเงามืดด้านหน้าดาวฤกษ์หรือเนบิวลาสว่างเหล่านั้น เช่นเดียวกับเนบิวลารูปหัวม้า ที่ปรากฏเป็นเงามืดรูปหัวม้าและมีเนบิวลาสว่างด้านหลัง
ภาพนี้ถ่ายด้วยกล้อง CCD cool แบบสี บนอุปกรณ์ตามดาว Sky Watcher HEQ5 Pro โดยถ่ายแบบ panorama 2 panel แต่ละ panel ถ่ายมา 2 ชุด ชุดที่ 1 ใช้ฟิลเตอร์ Optolong L-eXtreme เพื่อให้ได้สัญญาณในช่วงคลื่น Ha กับ Oii มาอย่างชัดเจน ใช้เวลา 12 ชั่วโมง ชุดที่ 2 ใช้ฟิลเตอร์ IDAS D1 เพื่อให้ได้สีสันของดาวอื่นๆ มา ใช้เวลา 10 ชั่วโมง รวมเวลาการถ่ายทั้ง 2 ชุดเป็น 22 ชั่วโมง รวม 2 panel เป็น 44 ชั่วโมง จากนั้นนำมาปรับแต่งโดยใช้โปรแกรม Deep Sky Stacker และ Abode Photoshop ซึ่งขั้นตอนการติดตั้งอุปกรณ์ ควบคุมและสั่งถ่ายภาพทำด้วยตนเองทั้งหมด โดยไม่ใช้การสั่งควบคุมกล้องโทรทรรศน์ระยะไกล หรือใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น
รายละเอียดการถ่ายภาพ
– วันที่ถ่ายภาพ : 26 มกราคม 2022 เวลา 20:00 น.
– สถานที่ถ่ายภาพ : อ.สูงเม่น จ.แพร่
– อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายถาพ : CCD ZWO ASI2600 MC-Pro / William Optics RedCat 51
– ความไวแสง : Gain 100
– เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : ใบล่ะ 20นาที – จำนวน 66ใบ – เวลารวม 22 ชั่วโมง
– ขนาดหน้ากล้อง : 51มม
– ความยาวโฟกัส : 250มม
– อัตราส่วนความยาวโฟกัส : f/4.9
– ฟิลเตอร์ : Optolong L-Extreme / IDAS D1
ภาพ : นายวชิระ โธมัส – ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2565 ประเภทวัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects)