Leonard Christmas Tails

          นี่คือภาพซีรีส์ของ #ดาวหางลีโอนาร์ด หรือ C/2021 A1 Leonard ที่บันทึกไว้ในช่วงเวลาที่ต่างกัน เป็นผลงานภาพถ่ายฝีมือคุณวชิระ โธมัส ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ 2565 ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ

          เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น แก๊สในดาวหางจะระเหิดออกฟุ้งกระจายไปทั่วอวกาศโดยรอบ ส่งผลให้มีลักษณะปรากฏเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน สามารถสังเกตเห็นได้ผ่านกล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์ และหากบันทึกไว้เปรียบเทียบกันในแต่ละวัน จะเห็นว่าลักษณะของดาวหางจะเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน สำหรับภาพชุดนี้บันทึกไว้ในช่วงวันที่ 21 – 25 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงวันคริสต์มาสพอดี บันทึกไว้วันละ 20 – 45 ภาพ และใช้เวลาเปิดหน้ากล้องภาพละ 60 วินาที 

          จริง ๆ แล้วดาวหางเป็นเพียงก้อนน้ำแข็งที่ประกอบขึ้นจากฝุ่นละออง น้ำแข็ง แอมโมเนีย และสารอินทรีย์อื่น ๆ เปรียบได้กับก้อนน้ำแข็งสกปรกที่ลอยเคว้งอยู่ในอวกาศ ส่วนที่เป็นก้อนน้ำแข็งนี้ว่า “นิวเคลียส” (nucleus) เมื่อนิวเคลียสเคลื่อนที่เข้าใกล้ดาวอาทิตย์ รังสีจากดวงอาทิตย์จะทำให้น้ำแข็งในนิวเคลียสระเหิดเป็นไอฟุ้งออกไปในอวกาศทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์  เกิดเป็นกลุ่มหมอกทรงกลมหรือทรงรีที่ล้อมรอบนิวเคลียส เรียกว่า “โคมา” (coma) และขณะที่ดาวหางโคจรไปรอบ ๆ ระบบสุริยะ ฝุ่นและแก๊สเหล่านี้จะฟุ้งกระจายทอดยาวไปในอวกาศ เรียกว่า “หาง” (tail) ซึ่งอาจยาวได้ถึงล้านกิโลเมตร ยิ่งเข้าใกล้ดวงอาทิตย์เท่าใด ฝุ่นและแก๊สก็จะยิ่งฟุ้งกระจายมากยิ่งขึ้น และสะท้อนแสงได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ช่วงที่ดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเป็นช่วงที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์มากที่สุดนั่นเอง

          นอกจากนี้ หากสังเกตส่วนหัวของดาวหางจะมีลักษณะออกไปในทางสีเขียว เกิดจากโมเลกุลสารประกอบจำพวกไซยาโนเจน (CN) และ สารประกอบที่มีคาร์บอนสองอะตอม (C2) กระทบกับแสงยูวีจากดวงอาทิตย์ จากนั้นปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสงสีเขียวอมฟ้า 

          ดาวหาง C/2021 A1 (Leonard) เป็นดาวหางคาบยาว ค้นพบเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2021 โดย G. J. Leonard จาก Mount Lemmon Observatory เข้าใกล้ดวงอาทิตย์และสามารถสังเกตด้วยตาเปล่าในช่วงเดือนธันวาคม 2021 โดยเฉพาะช่วงคริสต์มาส นับเป็นดาวหางที่สว่างที่สุดที่สามารถสังเกตได้แห่งปี

 

          รายละเอียดการถ่ายภาพ

          – วันที่ถ่ายภาพ : 21 ธันวาคม 2021 เวลา 19:00 น.

          – สถานที่ถ่ายภาพ : อ.สูงเม่น จ.แพร่

          – อุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายภาพ : CCD ZWO ASI2600 MC-Pro / iOptron Versa

          – ความไวแสง : Gain 100

          – เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : ใบละ 60 วินาที จำนวน 20 – 45 ใบ

          – ขนาดหน้ากล้อง : 108mm

          – ความยาวโฟกัส : 660mm

          – อัตราส่วนความยาวโฟกัส : f/6

 

ภาพ : นายวชิระ โธมัส – ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2565 ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า