ภาพใจกลางทางช้างเผือกคู่กับน้ำตกฝายเย็น ณ อ.ลอง จ.แพร่ หนึ่งในน้ำตกขนาดใหญ่ของ จ.แพร่ เกิดจากการที่น้ำในอ่างเก็บน้ำแม่กางไหลล้นสปิลเวย์ลงอ่างเก็บห้วยน้ำผาลาด (อ่างน้อย) แล้วไหลลงสู่หน้าผา ซึ่งจะมีน้ำไหลลงมาเฉพาะช่วงปลายฤดูฝนเท่านั้น
ภาพนี้จำเป็นต้องมีการวางแผนในการถ่ายเป็นอย่างดี เนื่องจากช่วงปลายฤดูฝน ทางภาคเหนือของประเทศไทยจะตรงกับช่วงปลายปีพอดี จึงมีปัจจัยเรื่องเวลาในการถ่ายภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไป ใจกลางทางช้างเผือกจะปรากฏให้เห็นใกล้กับขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันตกทันที ทำให้มีเวลาในการถ่ายไม่ถึง 1 ชั้วโมงเท่านั้น ก่อนที่ใจกลางทางช้างเผือกจะตกลับขอบฟ้าไป
เมื่อรู้ช่วงเวลาในการถ่ายภาพแล้วยังต้องอาศัยจังหวะที่ปริมาณน้ำของน้ำตกมีความพอเหมาะด้วย ในระหว่างที่รอใจกลางทางช้างเผือกเคลื่อนลงมาอยู่ในตำแหน่งมุมภาพที่ต้องการ ต้องคอยดูจังหวะที่ปริมาณน้ำของน้ำตกไม่มากเกินไป เพราะจะไม่สามารถยืนถ่ายหน้าน้ำตกได้ หรือ ถ้ามีน้อยเกินไปก็จะไม่สวยงามพอ
ภาพนี้ถ่ายโดยใช้กล้องตั้งบนขาตั้งกล้องที่มีมอเตอร์ตามดาว ถ่ายเฉพาะทางช้างเผือก 1 รูป และถ่ายฉากหน้าหรือน้ำตกโดยไม่ตามดาวอีก 1 รูป ตั้งค่าการถ่ายภาพเดียวกัน ถ่ายต่อเนื่องกัน โดยไม่ขยับขาตั้งกล้อง จากนั้นนำภาพทั้งหมดมารวมกัน
นอกจากนี้บริเวณใจกลางทางช้างเผือกในภาพยังมีดาวสว่างเด่นปรากฏอยู่ คือ ดาวศุกร์ ซึ่งเป็นวันที่เคลื่อนที่มาอยู่ในบริเวณใจกลางทางช้างเผือกพอดี บริเวณเหนือขึ้นไปด้านบนยังมีกลุ่มเนบิวลาสีแดงสดใสกระจายอยู่ประกอบด้วย เนบิวลาทะเลสาบ (Lagoon Nebula), Omega Nebula และเนบิวลานกอินทรี (Eagle Nebula) ตามลำดับ
รายละเอียดการถ่ายภาพ
– วันที่ถ่ายภาพ : 6 พฤศจิกายน 2021 เวลา 19:00 น.
– สถานที่ถ่ายภาพ : น้ำตกฝายเย็น(ผาลาด) อ.ลอง จ.แพร่
– อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายถาพ : กล้องดิจิตอล Nikon D750 / เลนส์ Sigma 14mm
– ความไวแสง : 1600
– เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 60 วินาที
– ความยาวโฟกัส : 14mm
– อัตราส่วนความยาวโฟกัส : f/1.8
ภาพ : นายวชิระ โธมัส – ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2565 ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์