PORTRAIT OF A BAT

          “กลุ่มดาวค้างคาว” เป็นอีกหนึ่งกลุ่มดาวที่คนไทยคงคุ้นเคยชื่อกันดี #ภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย ประจำสัปดาห์นี้ นำกลุ่มดาวค้างคาวแบบชัดแจ๋วมาฝากกัน 

          ภาพกลุ่มดาวแคสสิโอเปียนี้บันทึกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นภาพถ่ายฝีมือคนไทยที่ได้รับรางวัลชมเชยในการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2565 จัดขึ้นโดยสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (The 2022 IAU OAE Astrophotography Contest) ในหัวข้อภาพถ่ายกลุ่มดาว (Still images of celestial patterns) ได้รับการยกย่องว่ามีคุณค่าทางการศึกษา และปัจจุบันได้เปิดให้คุณครูและผู้สนใจทั่วโลกสามารถนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ได้ทางเว็บของ IAU

          กลุ่มดาวแคสสิโอเปียสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายบริเวณใกล้กับขั้วเหนือของท้องฟ้า มีดาวฤกษ์เรียงเด่น 5 ดวง เรียงตัวกันคล้ายกับตัวอักษรภาษาอังกฤษ “M” ชื่อกลุ่มดาวนี้มีที่มาจากชื่อภาษาละตินของราชินี “คัสซีเปีย” (Kasseipeia) จากตำนานเทพเจ้ากรีก ถือเป็นกลุ่มดาวที่ปรากฏอยู่ในหลายวัฒนธรรมทั่วโลกและมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวต่างๆ ที่แตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ เช่น ในประเทศไทยจะเห็นเป็นกลุ่มดาวค้างคาว ในขณะที่วัฒนธรรมฮาวาย เรียกว่า ‘Iwa Keli’i หรือหัวหน้าฝูงนกโจรสลัด

          สำหรับชนเผ่านาวาโฮ (Navajo) อินเดียนแดงกลุ่มใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ เรียกกลุ่มดาวนี้ว่า “Náhookòs Bi’áád” หญิงผู้เป็นแบบอย่างของความเป็นแม่และการฟื้นฟู ซึ่งจะเคลื่อนที่หมุนรอบขั้วฟ้าเหนือพร้อมกับกลุ่มดาวที่อยู่ตรงข้ามคือกลุ่มดาว “Náhookòs Bi’kà’” หรือกลุ่มดาวหมีใหญ่ นักรบชายผู้เป็นสามีของเธอ ผู้คอยปกปักรักษาบ้านเมือง

          ในสมัยโบราณของจีน จะเห็นกลุ่มดาวนี้ประกอบด้วย 3 กลุ่มดาว กลุ่มดาวแรกอยู่บริเวณดาวด้านล่างซ้ายเรียกว่า “Wang Liang” ผู้ขับรถม้าสี่ตัวของ Zhao Xiangzi ดยุคแห่ง Jin ซึ่งแทนด้วยดาวสว่างสองดวงด้านบนซ้ายและดาวสว่างที่น้อยกว่าสองดวงถัดไปใกล้กับบริเวณใจกลางกลุ่มดาว กลุ่มดาวที่สองอยู่บริเวณดาวตรงใจกลางเรียกว่า “Whip” หรือแส้ของ Wang Liang กลุ่มดาวที่สามอยู่บริเวณดาวสว่างที่เหลืออีกสองดวง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาว “Flying Corridor” ทางเดินลอยฟ้าคล้ายทางหลวงทอดยาวไปยังพระราชวังต้องห้ามของจักรพรรดิที่ตั้งอยู่บริเวณขั้วเหนือท้องฟ้า

          ภาพนี้ถ่ายผ่าน soft filter เพื่อเพิ่มความสว่างของดาวฤกษ์เรียงเด่น อีกทั้งยังช่วยลดความสว่างของดาวฤกษ์ดวงอื่น ๆ ลง และเป็นการถ่ายแบบช็อตเดียว (Single Shot) เปิดหน้ากล้องนาน 4 นาที โดยติดตั้งกล้องบนฐานตามดาว เพื่อให้เห็นรายละเอียดของวัตถุในห้วงอวกาศลึกที่อยู่บริเวณนี้ นั่นก็คือกระจุกดาวคู่ที่อยู่บริเวณมุมขวาบนของภาพนั่นเอง

          เมื่อสังเกตดาวฤกษ์แต่ละดวงจะมีสีที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถบอกถึงอุณหภูมิที่แตกต่างกันได้ ดาวที่มีสีแดงจะมีอุณหภูมิต่ำ ส่วนดาวสีที่มีน้ำเงิน หรือสีขาวจะมีอุณหภูมิที่สูงกว่า

          นอกจากนี้กลุ่มดาวนี้ยังสามารถใช้บอกทิศได้ เพียงลากเส้นสมมติตรงจากปีกค้างคาวท้ังสองข้างข้ึนไปบนท้องฟ้า เส้นตรงทั้งสองเส้นจะตัดกันที่จุดๆหน่ึง เมื่อลากเส้น ตรงจากจุดตัด ผ่านดาวนาวี (Navi) หรือดาวที่อยู่ตรงกลางดาวทั้ง 5 ดวง มาเรื่อย ๆ จะนำทางไปยังดาวเหนือได้

 

ภาพ: ธนกฤต สันติคุณาภรต์ – สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า