ทิวทัศน์ของแก่งหินสามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี กับแสงจักรราศี และดวงดาวบนฟ้ายามเช้าตรู่ เป็น #ภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย ประจำสัปดาห์นี้ ผลงานการถ่ายภาพของคุณชัชชัย จั่นธนากรสกุล ภาพนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2564 ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์
แสงจักรราศี (Zodiac Light) เป็นแสงเรืองจาง ๆ คล้ายรูปสามเหลี่ยม ปรากฏทางท้องฟ้าทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า และจะปรากฏทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า ชี้ไปตามแนวเส้นสุริยะวิถี มีความสว่างไม่มากนัก เกิดจากฝุ่นละอองในระนาบของระบบสุริยะที่อยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ เช่น ฝุ่นจากดาวหาง หรือฝุ่นจากดาวเคราะห์น้อย กระทบกับแสงจากดวงอาทิตย์แล้วสะท้อนมายังโลก ถือเป็นแสงที่ไม่ได้เห็นกันได้ง่ายนัก ต้องเป็นสถานที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิท และไม่มีมลภาวะทางแสงรบกวนบริเวณขอบฟ้าจึงจะเห็นได้
ช่วงเวลาที่ถ่ายภาพนี้คือช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ดาวสีส้มบริเวณใกล้ขอบฟ้าคือดาวศุกร์ ถัดขึ้นมาบริเวณปลายแสงจักรราศีคือ ดาวรวงข้าว หรือ Spica เป็นดาวฤกษ์สว่างเด่นในกลุ่มดาวหญิงสาว
เทคนิคการถ่ายภาพนี้ คือการรวมภาพสองชุดเข้าด้วยกัน ภาพชุดที่ 1 คือภาพท้องฟ้าที่เป็นฉากหลัง ซึ่งใช้ฐานตามดาวในถ่ายเพื่อเพิ่มรายละเอียดของภาพ และ ภาพชุดที่ 2 คือภาพพื้นดินที่มีสามพันโบกเป็นฉากหน้า
สามพันโบกเกิดจากน้ำในลำน้ำโขงกัดเซาะแผ่นหินราบมาหลายพันปี เกิดเป็นหลุมหรือแอ่งที่มีขนาด และรูปร่างแตกต่างกันออกไป คนท้องถิ่นจะเรียกว่า “โบก” ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีหลุมมากมายหลายพันหลุม จึงเป็นที่มาของชื่อว่า “สามพันโบก” หินบางก้อนถูกกัดกร่อนคล้ายงานแกะสลักรูปสัตว์ รูปหัวใจ รูปมิกกี้เมาส์ ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว คือ ปลายฤดูหนาว และฤดูร้อน เนื่องจากเป็นช่วงที่น้ำลดทำให้มองเห็นโบกอย่างได้ชัดเจน
จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกจังหวัดที่มี #เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด นั่นคือที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ซึ่งกำลังจะมีมหกรรมท่องเที่ยวดูดาวครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย “Dark Sky Star Party” วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2566 ที่จะถึงนี้ ใครอยากจะนอนกางเต็นท์ชมดาวพร้อมปักหลักถ่ายภาพดาราศาสตร์สวย ๆ ก็มาพบกันได้ ดูรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ >> ภาพกิจกรรม Dark Sky Star Party@ผาแต้ม
รายละเอียด
– วัน/เดือน/ปี ที่ถ่ายภาพ : 14/12/2020
– เวลา ที่ถ่ายภาพ : 5:05:00
– สถานที่ถ่ายภาพ : แก่งหินสามพันโบก
– อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ : Nikon D750
– ขนาดหน้ากล้อง : F4
– เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 120sec x 5
– ความยาวโฟกัส : 14mm
– อัตราส่วนทางยาวโฟกัส : 14mm
– ความไวแสง : 1000
ภาพ : ชัชชัย จั่นธนากรสกุล – ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2564 ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์