ทางช้างเผือกเดียวกัน แต่มองเห็นไม่เหมือนกัน

ผู้คนทั่วโลก สามารถสังเกตเห็นบางส่วนของทางช้างเผือกได้ แต่คำถามก็คือ
“ทางช้างเผือกที่สังเกตเห็นจากคนละที่นั้นเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?”

————————————————————————

แน่นอนว่าใจกลางทางช้างเผือกนั้นอยู่ห่างไกลออกไปเป็นอย่างมาก และตำแหน่งบนผิวโลกนั้นไม่ได้มีผลอย่างไรกับภาพที่เราเห็น นั่นก็คือทุกคนบนโลกนั้นมองเห็นใจกลางทางช้างเผือกเหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้สังเกตแต่ละคนจะเห็นไม่เหมือนกัน นั่นก็คือขอบฟ้าที่อยู่ใต้เท้าของเรานั่นเอง

หากเราจินตนาการว่าดาวทุกดวงบนท้องฟ้านั้นอยู่บนทรงกลมขนาดใหญ่ที่ครอบเราอยู่หนึ่งทรงกลม เรียกว่า ทรงกลมท้องฟ้า เราทุกคนนั้นอยู่ภายใต้ทรงกลมท้องฟ้าเดียวกัน แต่ ณ เวลาใด เวลาหนึ่ง เราจะสามารถสังเกตเห็นได้เพียงแค่เพียงครึ่งเดียวของทรงกลมท้องฟ้านี้เท่านั้น เนื่องจากอีกครึ่งหนึ่งจะถูกบดบังไปด้วยเส้นขอบฟ้า ตำแหน่งของทรงกลมท้องฟ้าที่ถูกบดบังอยู่นั้น จะเปลี่ยนแปลงไปตามตำแหน่งบนโลกของผู้สังเกต

ผู้สังเกตที่อยู่ค่อนไปทางซีกโลกเหนือ จะมีดาวที่อยู่ในซีกฟ้าใต้บางส่วนที่ถูกขอบฟ้าบดบังเอาไว้ ยิ่งไปทางละติจูดเหนือเพียงเท่าใด ก็จะยิ่งสังเกตเห็นดาวทางใต้ได้น้อยลงเท่านั้น ผู้สังเกตที่อยู่ที่ขั้วโลกเหนือพอดีนั้นจะไม่สามารถสังเกตเห็นดาวที่อยู่ในซีกฟ้าใต้ได้เลย

เราสามารถเห็นผลที่เกิดจากเส้นขอบฟ้านี้ได้ จากภาพทั้งสามนี้ จะเห็นว่าทั้งสามรูปนี้ถูกจัดไว้ให้ส่วนของทางช้างเผือกทั้งสามภาพนั้นตรงกัน และภาพทั้งสามนี้ถูกถ่ายเอาไว้ในช่วงที่ทางช้างเผือกตั้งฉากกับเส้นขอบฟ้าพอดี แต่เนื่องจากภาพทั้งสามนั้นถูกบันทึกเอาไว้จากคนละละติจูด เราจึงเห็นว่าส่วนของทางช้างเผือกที่ถูกเส้นขอบฟ้าบดบังไว้นั้น แตกต่างกันออกไป

ใจกลางทางช้างเผือกของเรา มีตำแหน่งบนทรงกลมท้องฟ้าที่ค่อนไปทางซีกฟ้าใต้ ด้วยเหตุนี้ใจกลางทางช้างเผือกจะถูกสังเกตเห็นได้ยากกว่าสำหรับผู้สังเกตที่อยู่ในละติจูดสูงขึ้นไป จากภาพขวาจะสังเกตเห็นว่าผู้สังเกตที่ละติจูด 47°N นั้นจะถูกขอบฟ้าบังไปครึ่งหนึ่ง ผู้สังเกตที่ละติจูด 37°N ขอบฟ้าจะบังในตำแหน่งที่ต่ำลงมา และผู้สังเกตที่อยู่ที่ละติจูด 18°N จะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน

ด้วยเหตุนี้ ผู้สังเกตที่อยู่ในละติจูดที่ต่ำจะสามารถสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกได้ง่ายกว่า แม้กระทั่งในประเทศไทยเอง เราก็จะพบว่าทางตอนใต้ของประเทศไทยนั้นสามารถสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกได้สูงจากขอบฟ้ามากกว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยอื่น เช่นสภาพท้องฟ้า และแสงรบกวน อาจจะมีผลมากกว่าเป็นอย่างมากในการสังเกตเห็นทางช้างเผือก

และหากใครได้มีโอกาสไปยังซีกโลกใต้ เราอาจจะพบกับใจกลางทางช้างเผือกที่พาดอยู่เหนือศีรษะ พร้อมกับภาพของทางช้างเผือกที่แปลกตา และดูจะ “กลับหัว” กับที่เราคุ้นเคยในซีกโลกเหนือ ทั้งที่แท้จริงแล้วเป็นเพียงแต่ขอบฟ้าของเราเองที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ภาพ และข้อมูล : ดร. มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า