พลังงาน

           พลังงานไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์ และยิ่งจำเป็นมากขึ้นในโลกที่กำลังพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ในแต่ละวันพลังงานไฟฟ้าถูกผลิตจากแหล่งพลังงานหลายประเภท ทั้งจากพลังงานทางเลือกและจากแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น ถ่านหิน แก๊สธรรมชาติหรือน้ำมันเตา 

           ปัจจุบัน ปริมาณการใช้งานพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจากภาครัฐและเอกชน จากข้อมูลของการไฟฟ้านครหลวงในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2558 แสดงให้เห็นว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีการใช้งานพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 24  ทำให้ในแต่ละปีภาครัฐบาลต้องออกมารณรงค์อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 โครงการปิด-ปรับ-เปลี่ยนหลอดไฟ และการปลูกจิตสำนึกเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ

          พลังงานไฟฟ้ารูปแบบหนึ่งที่ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางและจำเป็นอย่างมากในปัจจุบัน คือ “แสงสว่าง” ที่มีแหล่งกำเนิดจากหลอดไฟหลาย ๆ ชนิด ทั้งหลอดไฟแบบมีไส้ หลอดฟลูออเรสเซนต์ หลอดฮาโลเจน หลอดไฟ LED ฯลฯ ซึ่งประสิทธิภาพ ความสว่างหรือความร้อนจากการใช้อุปกรณ์ก็แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของหลอดไฟแต่ละชนิดอีกด้วย

          โดยทั่วไปแสงสว่างจากหลอดไฟในพื้นที่ภายนอก จะให้แสงสว่างแบบกระจายทั่วทุกทิศทาง เช่น แสงไฟภายนอกตามอาคารบ้านเรือน สวนสาธารณะ หรือแสงไฟบนท้องถนน แสงสว่างเหล่านี้ถ้าใช้งานอย่างไม่ระมัดระวัง จะส่งผลต่อทัศนวิสัยของท้องฟ้ายามค่ำคืน และสูญเสียพลังงานอย่างเปล่าประโยชน์

"แนวทางการใช้พลังงานจากแหล่งกำเนิดแสง

ให้มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุด"

  1. แสงไฟภายนอกอาคารควรมีฝาครอบด้านบนเพื่อลดการกระเจิงของแสงในทิศทางที่ไม่จำเป็น ช่วยเพิ่มความสว่างบริเวณพื้นที่ใช้งาน และยังช่วยลดมลภาวะทางแสง
  2. เลือกหลอดไฟให้มีความสว่างเหมาะสมกับพื้นที่ใช้งาน
  3. เปิดไฟภายในหรือภายนอกอาคารเฉพาะบริเวณที่จำเป็นต้องใช้
  4. ติดตั้งอุปกรณ์ เปิด-ปิด แสงไฟอัตโนมัติ เช่น เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว (Motion sensor) หรืออุปกรณ์ตั้งเวลา (Timer)

(ภาพด้านซ้าย) การติดตั้งแหล่งกำเนิดแสงอย่างมีประสิทธิภาพ
(ภาพด้านขวา) การติดตั้งแหล่งกำเนิดแสงอย่างสิ้นเปลืองพลังงาน

           การใช้แสงสว่างที่ไม่ระมัดระวังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล ในสหรัฐอเมริกา พบว่าแต่ละปีแสงไฟนอกอาคารถูกใช้เฉลี่ยทั้งประเทศมากถึง 120 ล้านล้านวัตต์ต่อชั่วโมง ส่วนใหญ่เป็นแสงสว่างบริเวณถนนและลานจอดรถ ซึ่งปริมาณไฟฟ้าขนาดนี้สามารถใช้ในเมืองนิวยอร์คได้นานถึงสองปี

          สมาคมอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดสากล (International Dark Sky Association: IDA ) ประมาณการว่าร้อยละ 30 ของปริมาณไฟฟ้าที่ใช้นอกอาคารเป็นความสูญเปล่า ความสูญเสียนี้มาจากแสงที่ไม่ได้มีการใส่โคมสะท้อนแสง ทำให้สูญเงินไปราว 3.3 พันล้านดอลลาร์และยังปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่บรรยากาศถึง 21 ล้านตันต่อปี

          การติดตั้งแสงไฟให้มีความสว่างเหมาะสมกับพื้นที่ใช้งาน ลดแสงกระเจิงที่ส่องสว่างบนท้องฟ้า และปิดไฟเมื่อเลิกใช้งาน นอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าภายในบ้านแต่ละเดือนกว่าร้อยละ 25 – 50 แล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์โลกและสิ่งแวะล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า