สุขภาพ
Home » ผลกระทบจากมลภาวะทางแสง » สุขภาพ
มลภาวะทางแสงที่ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ
ในอดีต ระบบร่างกายมนุษย์ทำงานเป็นวงจรสอดคล้องกับช่วงเวลากลางวัน กลางคืน ที่เปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ เรียกว่า “นาฬิกาชีวิต (Circadian Clock)” แต่ในปัจจุบันการใช้แสงอย่างไม่ระมัดระวังส่งผลให้มลภาวะทางแสงเพิ่มมากขึ้น นาฬิกาชีวิตจึงคลาดเคลื่อนไปจากเดิมก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมา
แสงสว่างในเวลากลางคืน ส่งผลต่อการนอนหลับและการหลั่งสารเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากต่อมไพเนียลที่อยู่ในบริเวณสมองส่วนกลางของมนุษย์ ต่อมไพเนียลจะสร้างสารเมลาโทนินออกมาสู่กระแสเลือดในเวลาที่ไม่มีแสงหรือมีแสงสว่างน้อย และหยุดหลั่งเมื่อเจอแสงสว่าง โดยปกติเมื่อมีการหลั่งสารเมลาโทนินในกระแสเลือด จะทำให้รู้สึกง่วงนอน ช่วยให้หลับสนิท สุขภาพดี มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยลดคลอเรสเตอรอล และช่วยให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ ตับอ่อน รังไข่ อัณฑะ ต่อมหมวกไตดีขึ้น แต่หากมีแสงรบกวนการนอน สารเมลาโทนินจะหลั่งน้อยลง ทำให้นาฬิกาชีวิตเปลี่ยนแปลงไป การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายแปรปรวน ไม่ว่าจะเป็นการตื่นนอน การนอนหลับ หรือการหลั่งฮอร์โมน สิ่งที่ตามมา คือ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และมะเร็งเต้านม
นอกจากนี้ แสงจากหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงสีฟ้า ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ยับยั้งการหลั่งของสารเมลาโทนินในเวลากลางคืน เนื่องจาก เซลล์ประสาทตาของมนุษย์ตอบสนองได้ดีต่อแสงในช่วงความยาวคลื่นสีฟ้าในช่วงเวลากลางคืน หากได้รับแสง เซลล์ประสาทตาจะส่งสัญญาณไปยังสมองให้ยับยั้งการหลั่งสารเมลาโทนิน ทำให้นอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท มีงานวิจัยทางการแพทย์ ทำการทดลองเปิดแสงสว่างให้หญิงสาวตาปกติและหญิงสาวตาบอดในช่วงเวลากลางคืน และพบว่าหญิงสาวตาบอดเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งน้อยกว่าหญิงสาวตาปกติถึงร้อยละ 36 เนื่องจากไม่มีเซลล์ประสาทตา จึงไม่อ่อนไหวต่อแสงสว่างที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้ร่างกายรักษาระดับการหลั่งเมลาโทนินได้ดีกว่า
แนวทางการปัญหา คือ
การเลือกใช้หลอดไฟให้เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงหลอดไฟประดิษฐ์ที่แผ่รังสีในช่วงคลื่นสีน้ำเงิน
- ใช้หลอดปรับความสว่างได้
ภาพแสดง นาฬิกาชีวิตของมนุษย์