การถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Startrails)

การถ่ายภาพเส้นแสงดาว หรือที่มักเรียกกันว่า Startrails เป็นภาพที่ต้องอาศัยความอดทนรอคอยในการถ่ายภาพแบบต่อเนื่องตลอดทั้งคืน เพื่อให้ได้แสงดาวที่ยาวที่สุด ซึ่งเกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก จึงทำให้เรามองเห็นดาวบนท้องฟ้ามีการเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่ง โดยดาวทุกดวงก็จะเคลื่อนที่หมุนรอบบริเวณขั้วเหนือของท้องฟ้านั่นเอง

นอกจากนั้น ภาพถ่ายเส้นแสงดาวยังสามารถใช้บ่งบอกถึงค่าคุณภาพของท้องฟ้าสถานที่นั้นๆ ได้ดีอีกด้วย โดยภาพเส้นแสงดาวที่มีแสงดาวสว่างต่อเนื่องไม่ขาด แสดงให้เห็นว่าสภาพท้องฟ้าตลอดทั้งคืนว่ามีทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่ดีเหมาะแก่การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์อีกด้วย

สิ่งที่จำเป็นต้องรู้ก่อนถ่ายภาพเส้นแสงดาว

หาดาวเหนือจากกลุ่มดาวสว่าง

 

สำหรับทักษะที่จำเป็นในการถ่ายภาพ Startrails ก็คือการหาตำแหน่งดาวเหนือ เราสามารถหาดาวเหนือ หรือขั้วเหนือท้องฟ้าจากการกลุ่มดาวหมีใหญ่หรือกลุ่มดาวค้างคาว เพื่อใช้ในการนำทางหาตำแหน่งดาวเหนือได้ดังนี้

 

การหาตำแหน่งดาวเหนือจากกลุ่มดาวหมีใหญ่

 

กลุ่มดาวหมีใหญ่” (Ursa major) หรือที่คนไทยเราเรียกว่า “กลุ่มดาวจระเข้” โดยทั่วไปมองเห็นดาวสว่างเรียงตัวเป็นรูปกระบวยตักน้ำ โดยดาวสองดวงแรกของกระบวยตักน้ำ จะชี้ไปยังดาวเหนือเสมอ ไม่ว่าทรงกลมท้องฟ้าจะหมุนไปอย่างไรก็ตาม

 

การหาตำแหน่งดาวเหนือจากกลุ่มดาวค้างคาว

กลุ่มดาวค้างคาว (Cassiopeia) ประกอบด้วยดาวสว่าง 5 ดวง เรียงเป็นรูปตัว “M” กลุ่มดาวค้างคาวจะอยู่ในทิศตรงข้ามกับกลุ่มดาวหมีใหญ่เสมอ ดังนั้นหากไม่เห็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ เราก็จะใช้กลุ่มดาวค้างคาวในการบอกทิศแทน

   

การหาตำแหน่งดาวเหนือจากกลุ่มดาวนายพราน

 

ในบางครั้งหากมีเมฆบดบังท้องฟ้าด้านทิศเหนือ ไม่สามารถมองเห็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือ กลุ่มดาวค้างคาวได้ เราสามารถใช้ “กลุ่มดาวนายพราน” (Orion) ในการชี้ตำแหน่งทิศเหนือได้คร่าว ๆ เนื่องกลุ่มดาวนายพรานจะหันหัวเข้าหาดาวเหนือเสมอ นอกจากนั้นกลุ่มดาวนายพรานยังตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตรฟ้า ทำให้กลุ่มดาวนายพรานขึ้น-ตก ในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก เสมอ

 

ทิศทางการถ่ายภาพและลักษณะเส้นแสงดาวที่ได้

การเคลื่อนที่ของเส้นดาวจะต่างกันไป บางภาพดาวจะเคลื่อนเป็นวงกลม บางภาพเป็นแนวขวาง เฉียงไปทางขวาบ้าง ซ้ายบ้าง ทั้งนี้เนื่องจากโลกเราหมุนในลักษณะรอบแกนของตัวเอง ซึ่งแกนที่ว่าก็คือขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้นั้นเอง ดังนั้นเมื่อเราหันหน้ากล้องไปทางทิศเหนือหรือดาวเหนือ ซึ่งเป็นแนวแกนของโลก เราก็จะได้ภาพเส้นแสงดาวเคลื่อนที่หมุนวงรอบๆ ดาวเหนือ แต่ถ้าหากเราหันหน้ากล้องไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก เราก็จะได้ภาพเส้นแสงดาวเคลื่อนที่เป็นแนวขวาง เป็นหลักการง่ายๆ ที่ควรทราบและเข้าใจสำหรับคนที่อยากถ่ายภาพเส้นแสงดาวครับ

นอกจากนี้ การเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าหมุนรอบโลก 1 รอบ ใช้เวลา 1 วัน (24 ชั่วโมง) ทำให้เรามองเห็นดาวฤกษ์เคลื่อนที่ไปตามทรงกลมท้องฟ้าด้วยอัตรา 15 องศาต่อชั่วโมง (360°/24 ชั่วโมง = 15 องศา)

ดังนั้นหากเราต้องการภาพเส้นแสงดาวที่มีความยาวมากๆ ก็ต้องใช้เวลาในการถ่ายภาพนานขึ้นตามการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้านั้นเองครับ

 
ภาพถ่ายเส้นแสงดาว ณ บริเวณวัดไทย ในเมืองโอเรกอน สหรัฐอเมริกา (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 200 / Exposure : 181 sec x 66 Images (3h19m))
   
ภาพเส้นแสงดาว (Star Trails) ทางทิศตะวันตก
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Sony A7lll / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/3.2 / ISO : 1600 / Exposure : 30sec x 405 images)
 

เทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ

    1. หาตำแหน่งขั้วเหนือท้องฟ้าจากกลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือกลุ่มดาวค้างคาว
    2. ถ่ายภาพด้วยโหมดแมนนวล (M)
    3. ใช้วิธีการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (Continuous)  โดยทั่วไปมักนิยมใช้เวลาในการเปิดหน้ากล้อง 30 วินาที และถ่ายภาพต่อเนื่องเรื่อยๆ แล้วนำภาพมาต่อกันเพื่อให้ได้ภาพเส้นแสงดาว (วิธีนี้ต้องใช้สายลั่นชัตเตอร์รวมในการถ่ายภาพ หากในกล้องไม่มีระบบถ่ายภาพต่อเนื่องอัตโนมัติ)
    4. ปิดระบบการกำจัดสัญญาณรบกวน (Noise reduction) เพื่อให้กล้องสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และไม่ทำให้เส้นแสงดาวขาดหายไป
    5. ไม่ใช้ระบบล็อคกระจกสะท้อนภาพ
    6. ปิดระบบออโต้โฟกัส พร้อมทั้งปรับโฟกัสของเลนส์ที่ระยะไกลสุด (อินฟินิตี้)โดยเช็คดูว่าภาพดาวคมชัดและเล็กที่สุดหรือไม่ ด้วยจอภาพหลังกล้อง
    7. ค่าความไวแสงอาจเริ่มถ่ายตั้งแต่ ISO 1000 เป็นค่าตั้งต้น และสามารถปรับเพิ่มหรือลดลง ตามสภาพแสงของสถานที่นั้นๆ ซึ่งสิ่งสำคัญคือภาพต้องเห็นจุดดาวและฉากหน้าได้พอสมควร ไม่สว่างหรือมืดเกินไป
    8. เมื่อเช็คมุมและค่าที่จะใช้ในการถ่ายภาพแล้ว ก่อนเริ่มถ่ายแบบต่อเนื่อง ควรถ่ายภาพ Dark Frame คือภาพที่ถ่ายด้วยค่าแบบเดียวกับที่เราจะใช้ถ่ายดาว แต่ให้ปิดฝาหน้ากล้องไว้ โดยถ่ายไว้ก่อนประมาณ 5 ภาพ แล้วจึงเริ่มถ่ายภาพเส้นแสงดาวตลอดทั้งคืน หรือจนแบตเตอรี่จะหมด
    9. ถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW เพื่อความยืดหยุ่นในการนำภาพมาปรับในภายหลัง
 

การประมวลผลภาพถ่ายเส้นแสงดาว ด้วยโปรแกรม StarStax

 

หลังจากที่เราถ่ายภาพเก็บไฟล์มาหลายร้อยภาพแล้ว เรามาทำการประมวลผล หรือการนำภาพทั้งหมดมารวมกัน โดยจะแนะนำโปรแกรมที่ StarStax เป็นฟรีแวร์สามารถดาวน์โหลดได้ที่ (คลิ๊ก)  หลังจากดาวน์โหลดและติดตั้งโปรแกรมแล้วเรามาเริ่มกันเลยครับ

ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.markus-enzweiler.de/software/software.html
 
    1. เปิดไฟล์ภาพดาวที่ถ่ายไว้ทั้งหมดออกมา โดยคลิกที่ไอคอน Open Image
    2. เปิดไฟล์ภาพ Dark ที่ถ่ายไว้ทั้งหมดออกมา โดยคลิกที่ไอคอน Open Dark Frames
    3. เลือกรูปแบบในการรวมภาพแบบ Lighten โดยคลิกที่โหมด Blending Mode / Lighten
    4. ทำการ Process ภาพโดยคลิกที่ไอคอน Start Processing โปรแกรมจะจัดการไฟล์ภาพให้ทั้งหมด ทั้งการรวมภาพและการกำจัดสัญญาณรบกวน (Noise) เพียงคลิกเดียวเท่านั้น
    5. เมื่อรวมภาพเสร็จแล้วทำการ Save image โดยคลิก File / Save As
    6. เลือกรูปแบบการบันทึกภาพแบบ TIFF เพื่อให้สามารถนำไปใช้ปรับแต่งในภายหลัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า