Photograph : Kei Nomiyama/Barcroft Images
งานศึกษาที่รวบรวมเอาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จวบจนปัจจุบันระบุว่ามลภาวะทางแสงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนประชากรแมลงลดลงอย่างรวดเร็วแต่มักถูกมองข้าม
แสงไฟประดิษฐ์ในตอนกลางคืนกระทบต่อแทบทุกมิติของชีวิตแมลง ตั้งแต่การดึงดูผีเสื้อกลางคืนให้มาบินรอบดวงไฟจนกระทั่งตายลง หรือส่งสว่างให้แมลงตกเป็นเหยื่อของหนูและคางคก ไปจนถึงพรางแสงไฟสัญญาณหาคู่ของหิ่งห้อย
“เราเชื่ออย่างยิ่งว่าแสงไฟประดิษฐ์ในตอนกลางคืน ร่วมกับการสูญเสียที่อยู่อาศัย มลภาวะทางเคมี ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือปัจจัยที่ทำให้แมลงลดจำนวนลง” กลุ่มนักวิทยาศาสตร์สรุปหลังจากวิเคราะห์การศึกษากว่า 150 ชิ้น “เราเสนอว่าแสงไฟประดิษฐ์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มักถูกมองข้ามในฐานะผู้สร้างผลกระทบที่อาจทำให้แมลงสูญพันธุ์”
อย่างไรก็ดี มลภาวะทางแสงแตกต่างจากปัจจัยอื่นๆ โดยที่การป้องกันแสงไฟไม่ให้รบกวนธรรมชาตินั่นทำได้ง่ายดาย โดยการปิดไฟที่ไม่จำเป็นหรือการออกแบบโคมที่เหมาะสม “เพียงเท่านี้ ก็สามารถลดการตายของประชากรแมลงได้อย่างมีนัยสำคัญ” รายงานระบุ
เบรตต์ เซย์มัวร์ (Brett Seymoure) นักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรม มหาวิทยาลัยวอชิงตัน และนักวิทยาศาสตร์อาวุโสในทีมวิจัยระบุว่า “แสงไฟประดิษฐ์ในตอนกลางคืนเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ ตั้งแต่แสงไฟบนท้องถนนไปจนถึงเปลวไฟที่ปะทุจากการขุดเจาะน้ำมัน แสงดังกล่าวกระทบต่อทุกมิติของชีวิตแมลงเท่าที่เราจะนึกภาพออก”
การลดลงของประชากรแมลงถูกพบในเยอรมัน เปอร์โตริโก โดยการศึกษาในระดับโลกเมื่อไม่นานมานี้เปิดเผยว่า ประชากรแมลงที่ลดจำนวนลงนั้นจะนำไปสู่ “การล่มสลายของระบบนิเวศตามธรรมชาติ” และยังระบุเพิ่มเติมว่า “ประชากรแมลงทั่วโลกลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว การจากไปของมันจะสร้างหายนะต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก”
คาดว่ามีจำนวนแมลงบนโลกหลายล้านชนิดพันธุ์ซึ่งส่วนใหญ่เราไม่รู้จัก และแมลงกว่าครึ่งออกหากินในตอนกลางคืน แม้แต่แมลงที่หากินในเวลากลางวันก็อาจถูกรบกวนโดยแสงไฟในช่วงเวลาพักผ่อนได้ไม่แตกต่างกัน
การวิเคราะห์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biological Conservation ระบุว่าแสงสว่างได้ถูกใช้ในภาคการเกษตรเพื่อป้องกันแมลงอย่างยาวนาน แต่เมื่อโครงสร้างพื้นฐานของมนุษย์ขยายตัวมากขึ้น และต้นทุนของแสงสว่างลดต่ำลง มลภาวะทางแสงก็ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ถึง 1 ใน 4 ของพื้นผิวโลก
ผลกระทบจากมลภาวะทางแสงที่หลายคนคุ้นเคยคือภาพผีเสื้อกลางคืนที่หลงคิดว่าหลอดไฟคือพระจันทร์ แมลงราว 1 ใน 3 ซึ่งหลงวนติดอยู่กับหลอดไฟจะตายลงก่อนรุ่งเช้าจากการเหนื่อยล้าหรือถูกล่า
การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ในสหราชอาณาจักรพบว่าประชากรผีเสือกลางคืนนั้นลดจำนวนลงในพื้นที่ที่สว่างจากแสงไฟประดิษฐ์มากกว่าพื้นที่มืด แสงสว่างจากไฟหน้ารถก็เป็นหนึ่งในฆาตรกรเคลื่อนที่ได้ แสงไฟอันตรายนี้ลวงแมลงกว่าแสนล้านตัวให้ต้องตายอยู่หน้ารถยนต์ทุกปีในฤดูร้อนของประเทศเยอรมัน
แสงไฟประดิษฐ์ยังขัดขวางการหาคู่ของแมลงบางชนิดพันธุ์ ที่เห็นได้ชัดคือหิ่งห้อยที่ใช้แสงสว่างตามธรรมชาติส่งสัญญาณระหว่างการจับคู่ผสมพันธุ์ แมลงบางชนิดใช้แสงสะท้อนในการหาตำแหน่งของแหล่งน้ำ ซึ่งคลื่นแสงดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับแสงสะท้อนจากพื้นผิวเรียบมัน “แมลงชีปะขาวมีชีวิตเพียงหนึ่งวัน พวกมันบินออกมาเพื่อหาแหล่งน้ำโดยพิจารณาจากพื้นที่ซึ่งสะท้อนแสง พวกมันพบและวางไข่แต่ในความเป็นจริงพื้นที่ดังกล่าวคือพื้นยางมะตอย แล้วทั้งหมดก็ตายลง นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชากรขนาดใหญ่สูญหายไปในชั่วข้ามคืน”
พัฒนาการของแมลงวัยอ่อน เช่น จักจั่น พบว่าได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางแสงเช่นกัน โดยแสงไฟประดิษฐ์จะเปลี่ยนการรับรู้กลางวันกลางคืนของแมลงเหล่านั้น เช่นเดียวกับการหาอาหารของแมลง แมลงส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงแสวงสว่าง เช่น ตั๊กแตนยักษ์บางชนิดพันธุ์ที่บินไม่ได้จะใช้เวลาหาอาหารน้อยลงมากหากอยู่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะทางแสง
แมลงเป็นเหยื่อที่สำคัญอย่างยิ่งของหลายชนิดพันธุ์ แต่มลภาวะทางแสงอาจทำให้สมดุลของห่วงโซ่อาหารพังทลายลงและเอนเอียงไปเอื้อให้กับผู้ล่า หากแมลงหลงวนอยู่กับหลอดไฟ เราจะพบแมงมุม ค้างคาว หนู นก จิ้งจก และคางคก หาอาหารอยู่รอบดวงไฟเหล่านั้น การถูกล่าที่มากเกินไปจะทำให้ประชากรแมลงซึ่งได้รับผลกระทบลดลงอย่างรวเร็วจนถึงขั้นสูญพันธุ์ได้
นักวิจัยหลายคนกล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่แมลงจะปรับตัวกับมลภาวะทางแสง ปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดจากมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือการมาของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น อาจนำไปสูการปรับตัวได้บ้างแต่วัฎจักรกลางวันและกลางคืนเป็นสิ่งที่คงที่มาตลอดการวิวัฒนาการตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี มลภาวะทางแสงจัดการได้ค่อนข้างง่ายหากเทียบกับภัยคุกคามอื่นๆ เซย์มัวร์กล่าวว่า “เมื่อคุณปิดไฟ มลภาวะทางแสงก็หายไป คุณไม่จำเป็นต้องออกไปทำความสะอาดเหมือนกับมลภาวะอื่นๆ ผมไม่ได้บอกว่าเราต้องกำจัดแสงสว่างในตอนกลางคืนลงทั้งหมด แต่ผมมองว่าเราต้องใช้มันอย่างชาญฉลาดมากขึ้น”
เรื่องง่ายๆ อย่างการปิดไฟที่ไม่จำเป็นต้องใช้เป็นการช่วยที่ชัดเจน การติดตั้งระบบไฟที่เปิดเมื่อมีการเคลื่อนไหวยังช่วยลดมลภาวะทางแสง การใช้โคมไฟให้แสงส่องสว่างเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการให้สว่างก็เป็นเรื่องจำเป็น ที่สำคัญคือการหลีกเลี่ยงไฟสีฟ้า-ขาว ซึ่งจะกระทบต่อจังหวะชีวิตประจำวันของแมลง
“หลักฐานที่ระบุว่ามลภาวะทางแสงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศนั้นมีน้ำหนักอย่างยิ่ง” แมตต์ ชาร์ดโลว์ (Matt Shardlow) ผู้บริหารองค์กรไม่แสวงหากำไร Buglife กล่าว “เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับแมลง การตั้งเป้าหมายในการลดแสงสว่างโดยใช้กฎหมายน่าจะเป็นขั้นตอนที่สำคัญ” เขากล่าวถึงแนวทางของรัฐบาลสหราชอาณาจักรเรื่องการจัดการมลภาวะทางแสงที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหาวิกฤติประชากรแมลง
ศาสตราจารย์ไนเจล เรอเน (Prof. Nigel Raine) ผู้เชี่ยวชาญก้านการผสมเกสรจากมหาวิทยาลัยในประเทศแคนาดากล่าวว่า “มลภาวะทางแสงอาจส่งผลต่อประชากรแมลงทั้งในระดับชนิดพันธุ์ และในระดับสังคม แต่อาจเร็วไปนักที่จะกล่าวว่าปัจจัยนี้สำคัญเทียบเท่ากับแรงกดดันอื่นๆ ที่กระทบต่อแมลงเช่นกัน”
ทีมวิจัยของเซย์มัวร์ระบุว่ายังไม่มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับมลภาวะทางแสงมากนัก โดยอาจเป็นสาเหตุมาจากอคติทางการวิจัยที่นักนิเวศวิทยานิยมทำการศึกษาผลกระทบในตอนกลางวันมากกว่ากลางคืน
อ้างอิง : www.theguardian.com/environment/2019/nov/22/light-pollution-insect-apocalypse
เรียบเรียง : รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
อ่านข่าวต้นฉบับ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร