“Dark Sky in Thailand”
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย
สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์
——————————————————————–
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ส่งมอบประสบการณ์ใหม่ ผลักดันการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ (Dark Sky Tourism) แนะนำเส้นทางท่องเที่ยวดูดาวทั่วทุกภูมิภาคของไทย ภายใต้แนวคิด “Amazing Dark Sky in Thailand” พร้อมประกาศรายชื่อ 12 พื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยและเปิดตัวคู่มือท่องเที่ยว “ชวนเธอ ไปชมดาว” เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ปลุกกระแสการเดินทางในช่วงฤดูกาลปลายฝนต้นหนาว โดยมี นายยุทธศักดิ์ ศุภสร ผู้ว่าการการ ททท. และ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกันแถลงข่าว ณ ห้องประชุมจารุวัสตร์ ชั้น 10 อาคาร ททท.
นายยุทธศักดิ์ ศุภสร ผู้ว่าการการ ททท. เปิดเผยว่า โครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND เกิดจากการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ททท. และ สดร. ส่งมอบประสบการณ์ใหม่ให้แก่นักเดินทางผ่านการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ (Dark Sky Tourism) เพื่อตอบรับแนวโน้มการการท่องเที่ยวแบบวิถีปกติใหม่ (New Normal) และ พฤติกรรมของนักเดินทางในยุค Social Distancing ซึ่งต้องการพื้นที่พักผ่อนที่สร้างความสุขใกล้ตัวได้ง่ายๆ ท่ามกลางธรรมชาติ ททท. จึงสร้างสรรค์สินค้าท่องเที่ยวด้วยจุดขายใหม่ Dark Sky Tourism นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “Amazing Dark Sky in Thailand” พร้อมกับเปิดตัวคู่มือการท่องเที่ยว“ชวนเธอ ไปชมดาว” เพื่อสร้างความประทับใจในเรื่องราวของแหล่งท่องเที่ยววิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการดูดาว โดยอ้างอิงข้อมูลเชิงดาราศาสตร์มากำหนดเส้นทางท่องเที่ยว รวมถึงความพร้อมในการรองการนักท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกหรือผู้ให้คำแนะนำเรื่องดวงดาวบนท้องฟ้า อีกทั้งเป็นการตอกย้ำความพร้อมของพื้นที่การท่องเที่ยวทุกภูมิภาคของประเทศไทยที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวในโอกาสปีท่องเที่ยวไทย 2565 – 2566 หรือ “Visit Thailand Year 2022 – 2023 : Amazing New Chapters” เพื่อเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคุณภาพ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยการทำการตลาดแบบเฉพาะ ผ่านการสร้างคุณค่าประสบการณ์ที่แตกต่างตลอดการเดินทาง ให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจพิเศษ (Hyper Personalization) เป็นผู้ชื่นชอบการดูดาว สนใจในด้านดาราศาสตร์ ชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก หรือชมความสวยงามของดวงดาวต่าง ๆ และกลุ่มดาวจักรราศีที่ปรากฏในท้องฟ้าแต่ละเดือน ซึ่งนอกจากจะตื่นตาตื่นใจท้องฟ้าในยามค่ำคืน ณ สถานที่ดูดาวทั่วทุกภูมิภาคของไทย สนุกสนานไปกับกิจกรรมสอดแทรกความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ควบคู่ไปด้วย ตลอดจนเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงอื่น ๆ ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดนั้น
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า โครงการ Dark Sky in Thailand หรือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ซึ่งริเริ่มดำเนินการร่วมกับ ททท. ตั้งแต่ปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากมลภาวะทางแสงและอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้ายามค่ำคืนผ่านการจัดตั้งเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) อุทยานท้องฟ้ามืด 2) ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด 3) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล 4) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง โดยสถานที่ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนในแต่ละประเภทจะต้องมีความมืดของท้องฟ้าที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการแสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากแสงรบกวน เป็นพื้นที่เปิดโล่งซึ่งสามารถสังเกตท้องฟ้าได้โดยรอบ มองเห็นดาวเหนือ และวัตถุท้องฟ้าเด่น ๆ ได้ด้วยตาเปล่า รวมถึงมีบุคลากรในพื้นที่ที่สามารถให้ความรู้ทางดาราศาสตร์เบื้องต้นแก่นักท่องเที่ยวได้ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่ผู้มาใช้บริการ เช่น เส้นทางคมนาคม ห้องน้ำ ที่พัก ร้านอาหาร เป็นต้น
ในปี 2565 ได้มีการจัดพิธีมอบโล่และขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยขึ้นเป็นปีแรกภายใต้แคมเปญ “Amazing Dark Sky in Thailand” มีพื้นที่ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2565 รวมทั้งสิ้น 12 พื้นที่ สถานที่ได้รับการรับรองให้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยจำนวน 12 แห่ง มีระยะเวลาการขึ้นทะเบียนรวม 3 ปี นับเป็นพื้นที่นำร่องปลุกกระแสความสนใจเกี่ยวกับดาราศาสตร์ที่จะนำมาใช้เป็นจุดขายการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมประชาสัมพันธ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงทางดาราศาสตร์ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ และเป็นสถานที่ถ่ายภาพสำหรับกลุ่มนักดาราศาสตร์สมัครเล่น
สำหรับสถานที่ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2565 จำนวน 12 แห่ง ประกอบด้วย
- อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จังหวัดเชียงใหม่ ประเภท อุทยานท้องฟ้ามืด
- อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี ประเภท อุทยานท้องฟ้ามืด
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-ทุ่งกระมัง จังหวัดชัยภูมิ ประเภท อุทยานท้องฟ้ามืด
- อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จังหวัดชัยภูมิ ประเภท อุทยานท้องฟ้ามืด
- อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ ประเภท อุทยานท้องฟ้ามืด
- ชุมชนออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ประเภท ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด
- ไร่องุ่นไวน์ อัลซิดินี่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ประเภท เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคค8
- โรงแรมเรนทรี เรซิเดนซ์ เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ประเภท เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล
- สนามมวกเหล็ก เอทีวี อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ประเภท เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล
- บ้านไร่ยายชะพลู อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ประเภท เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล
- เดอะเปียโน รีสอร์ท อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ประเภท เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล
- ไร่องุ่นไวน์กราน-มอนเต้ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ประเภท เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล
“มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสถานที่ดูดาวของประเทศไทย”
ดาวน์โหลด e-book #ชวนเธอไปชมดาว ได้ที่ : https://madamscreator.com/ebook/Amazing-Dark-Sky/
ดาวน์โหลด #คู่มือดูดาว ได้ที่ : https://www.narit.or.th/…/stargazing_%E0%B8%84%E0%B8%B9…