สำหรับคอลัมน์นี้อยากเชิญชวนนักดาราศาสตร์สมัครเล่น มาร่วมสร้างเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ภายใต้โครงการ Dark Sky Campaign ด้วยภาพถ่ายดาราศาสตร์กันได้ ซึ่งหลายครั้งที่เหล่านักดาราศาสตร์สมัครเล่นออกไปถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าหรือปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ก็มักจะต้องค้นหาสถานที่ ที่มีท้องฟ้าที่มืดสนิทปราศจากแสงรบกวน และสามารถสังเกตเห็นท้องฟ้าได้รอบทิศทาง เช่น อุทยานแห่งชาติ ยอดดอย อ่างเก็บน้ำของชุมชน รีสอร์ท โรมแรม หรือแม้กระทั่งพื้นที่ส่วนบุคคล โดยพื้นที่ต่างๆที่กล่าวมานั้น เราสามารถใช้ภาพถ่ายที่ถ่ายได้จากท้องฟ้านั้นๆ เช่น ภาพทางช้างเผือก กาแล็กซี เนบิวลา กระจุกดาว หรือแม้กระทั่งภาพเส้นแสงดาว บ่งบอกถึงคุณภาพของท้องฟ้าว่าเหมาะสมจะเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดได้
ดังนั้น หากเราพบว่าสถานที่ใดก็ตาม ที่ได้มีโอกาสไปถ่ายดาว และพบว่าท้องฟ้าที่นั้นมีความมืดในระดับที่สามารถสังเกตการณ์วัตถุต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นได้อย่างชัดเจน และอยากจะอนุรักษ์พื้นที่ดังกล่าวให้เป็นสถานที่ถ่ายดาว หรือจุดสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ภาพถ่ายดาราศาสตร์ที่สวยงามของคุณ ก็สามารถนำมาใช้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการ การขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดได้ โดยปัจจุบัน สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ดำเนินโครงการ “การขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด” ซึ่งร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่จะสร้างพื้นทีสำหรับการดูดาวและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวิชาการให้กับประเทศไทย ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดและดาวน์โหลดใบสมัครได้ตามลิงก์ https://darksky.narit.or.th/darkskyreserve/
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้เริ่มดำเนินโครงการ “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Campaign) โดยแบ่งประเภทของเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
-
- อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park)
คือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ด้วยวิธีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง เหมาะสมต่อการใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางแสง (Light Pollution) รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงดาราศาสตร์ มีค่าความมืดท้องฟ้าอยู่ในระดับที่สามารถสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว กระจุกดาว เนบิวลา หรือทางช้างเผือกได้ด้วยตาเปล่า
-
- ชุนชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities)
คือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน เทศบาล ตำบล ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ภายใต้การร่วมมือและสนับสนุนจากประชาชน ด้วยวิธีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง เหมาะสมต่อการใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางแสง (Light Pollution) เช่น บริเวณอ่างเก็บน้ำ เขื่อน สวนสาธารณะ มีค่าความมืดท้องฟ้าอยู่ในระดับที่สามารถสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว กระจุกดาว เนบิวลา หรือทางช้างเผือกได้ด้วยตาเปล่า
-
- เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล (Dark Sky Properties)
คือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น รีสอร์ท โรงแรม ฟาร์ม ศูนย์การเรียนรู้ ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ด้วยวิธีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง เหมาะสมต่อการใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางแสง (Light Pollution) มีความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่สนใจ มีค่าความมืดท้องฟ้าอยู่ในระดับที่สามารถสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว กระจุกดาวเปิด หรือทางช้างเผือกได้ด้วยตาเปล่า
-
- เขตอนุรักษ์ท้องฟ้าในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Subures)
คือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง เช่น สวนสาธารณะ โรงเรียน หอดูดาวส่วนตัว ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ด้วยวิธีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง เหมาะสมต่อการใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางแสง (Light Pollution) มีค่าความมืดท้องฟ้าต้องอยู่ในระดับที่สามารถสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว ได้ด้วยตาเปล่า
__________________________________________________
เราจะสามารถตรวจสอบคุณภาพท้องฟ้าอย่างไรบ้าง ?
ก่อนที่เราจะเสนอชื่อพื้นที่ดูดาว เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดนั้น ก็จำเป็นต้องมีหลักฐานที่แสดงให้ถึงคุณภาพของท้องฟ้าที่มีความมืดที่เหมาะสม ซึ่งมีวิธีง่ายๆ ดังนี้
-
- สำรวจท้องฟ้าด้วยตาเปล่า ว่าสามารถสังเกตเห็นแสงหรือวัตถุท้องฟ้าอะไรได้บ้าง
เริ่มต้นสังเกตการณ์ท้องฟ้าด้วยตาเปล่า ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำไปจนถึงช่วงเวลากลางคืน ว่าสามารถสังเกตเห็นอะไรได้บ้าง เช่น ช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เห็นแสงจักรราศี (Zodiacal light) ได้หรือไม่ เห็นแนวทางช้างเผือกได้ชัดเจนแค่ไหน เห็นกาแล็กซีแอนโดรเมดา (M31)ได้หรือไม่ และรอบๆตัว มีมลภาวะทางแสงมารบกวนมากน้อยแค่ไหน
-
- ทดลองถ่ายภาพท้องฟ้า ว่าสามารถถ่ายภาพอะไรได้บ้าง และเห็นรายละเอียดอย่างไร
2.1 ช่วงหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า สามารถถ่ายภาพแสงจักรราศี (Zodiacal Light) ได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งแสงจักรราศีนี้บางพื้นที่ก็อาจไม่สามารถมองเห็นหรือถ่ายภาพได้ และหากพื้นที่ไหนที่สามารถเห็นหรือถ่ายภาพได้ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงระดับคุณภาพท้องฟ้าได้ดี
2.2 ในวันที่ปราศจากแสงดวงจันทร์ สามารถสังเกตเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกได้ชัดเจนแค่ไหน พร้อมการถ่ายภาพทางช้างเผือกดังกล่าวไว้
2.3 ให้ทดลองถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Startrails) ตลอดทั้งคืน หรืออย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบค่าทัศวิสัยของท้องฟ้าว่าสามารถถ่ายภาพได้ตลอดทั้งคืนโดยไม่มีอุปสรรคของมลภาวะของแสงมารบกวน โดยภาพเส้นแสงดาวที่มีคุณภาพนั้น จะเห็นว่าเส้นแสงของดาวจะต่อกันเป็นเส้นสม่ำเสมอไม่มีช่วงไหนขาดหายไปนั่นเอง
2.4 ทดลองถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects) เช่น กาแล็กซี เนบิวลา กระจุกดาว หรือแม้กระทั่งดาวหาง เพื่อใช้ในการบ่งชี้ให้เห็นถึงความมืดของท้องฟ้าที่สามารถถ่ายภาพวัตถุที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าออกมาได้มีรายละเอียดดีมากน้อยแค่ไหน
-
- ตรวจสอบแนวทางการบริหารจัดการมลภาวะทางแสง ว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไร ควบคุมได้หรือไม่
การตรวจสอบพื้นที่ว่ามีการบริหารจัดการเรื่องแสงไฟ และมลภาวะทางแสงได้ดีมากน้อยอย่างไร และดูแนวทางที่จะสามารถดำเนินการพัฒนาได้ในอนาคตเพื่อให้สถานที่ดังกล่าว จะสามารถทำให้เป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดได้ในระดับที่มีคุณภาพสูงขึ้นต่อไปได้ โดยสามารถเข้าไปศึกษาวิธีการจัดการเกี่ยวกับแสงไฟ การเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสม และการวางแนวทางการใช้แสงสว่างให้มีประสิทธิภาพ ได้ตามลิงก์ https://darksky.narit.or.th/solution/
__________________________________________________
หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด
การขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในแต่ละรูปแบบ ถูกพิจารณาโดยคณะกรรมการของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จากข้อมูลการสมัครและการสำรวจพื้นที่ ที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์กำหนดไว้ เช่น คุณภาพท้องฟ้า แสงสว่างภาพนอกอาคาร การจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักอย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุกจากหน่วยงาน/ผู้บริหารต้นสังกัด ทั้งนี้ เพื่อยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมและเกิดการอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้าอย่างยั่งยืน
พื้นที่ที่ได้รับจัดตั้งเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด จะได้รับป้ายรับรองว่าพื้นที่ดังกล่าวมีคุณภาพท้องฟ้าได้มาตรฐาน มีการจัดการแสงสว่างในพื้นที่ตามที่กำหนด และได้รับอนุญาตให้นำเครื่องหมายเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดใช้ในการประชาสัมพันธ์พื้นที่อุทยานแก่นักท่องเที่ยวและประชาชน นอกจากนี้จะดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์อุทยานท้องฟ้ามืด และช่องทางออนไลน์อื่นๆ เพื่อให้ผู้สนใจรับทราบข้อมูลอย่างกว้างขวาง