การถ่ายภาพเส้นแสงดาว หรือที่มักเรียกกันว่า Startrails เป็นภาพที่ต้องอาศัยความอดทนรอคอยในการถ่ายภาพแบบต่อเนื่องตลอดทั้งคืน เพื่อให้ได้แสงดาวที่ยาวที่สุด ซึ่งเกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก จึงทำให้เรามองเห็นดาวบนท้องฟ้ามีการเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่ง โดยดาวทุกดวงก็จะเคลื่อนที่หมุนรอบบริเวณขั้วเหนือของท้องฟ้านั่นเอง
นอกจากนั้น ภาพถ่ายเส้นแสงดาวยังสามารถใช้บ่งบอกถึงค่าคุณภาพของท้องฟ้าสถานที่นั้นๆ ได้ดีอีกด้วย โดยภาพเส้นแสงดาวที่มีแสงดาวสว่างต่อเนื่องไม่ขาด แสดงให้เห็นว่าสภาพท้องฟ้าตลอดทั้งคืนว่ามีทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่ดีเหมาะแก่การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์อีกด้วย
สิ่งที่จำเป็นต้องรู้ก่อนถ่ายภาพเส้นแสงดาว
หาดาวเหนือจากกลุ่มดาวสว่าง
สำหรับทักษะที่จำเป็นในการถ่ายภาพ Startrails ก็คือการหาตำแหน่งดาวเหนือ เราสามารถหาดาวเหนือ หรือขั้วเหนือท้องฟ้าจากการกลุ่มดาวหมีใหญ่หรือกลุ่มดาวค้างคาว เพื่อใช้ในการนำทางหาตำแหน่งดาวเหนือได้ดังนี้
การหาตำแหน่งดาวเหนือจากกลุ่มดาวหมีใหญ่
กลุ่มดาวหมีใหญ่” (Ursa major) หรือที่คนไทยเราเรียกว่า “กลุ่มดาวจระเข้” โดยทั่วไปมองเห็นดาวสว่างเรียงตัวเป็นรูปกระบวยตักน้ำ โดยดาวสองดวงแรกของกระบวยตักน้ำ จะชี้ไปยังดาวเหนือเสมอ ไม่ว่าทรงกลมท้องฟ้าจะหมุนไปอย่างไรก็ตาม
การหาตำแหน่งดาวเหนือจากกลุ่มดาวค้างคาว
กลุ่มดาวค้างคาว (Cassiopeia) ประกอบด้วยดาวสว่าง 5 ดวง เรียงเป็นรูปตัว “M” กลุ่มดาวค้างคาวจะอยู่ในทิศตรงข้ามกับกลุ่มดาวหมีใหญ่เสมอ ดังนั้นหากไม่เห็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ เราก็จะใช้กลุ่มดาวค้างคาวในการบอกทิศแทน
การหาตำแหน่งดาวเหนือจากกลุ่มดาวนายพราน
ในบางครั้งหากมีเมฆบดบังท้องฟ้าด้านทิศเหนือ ไม่สามารถมองเห็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือ กลุ่มดาวค้างคาวได้ เราสามารถใช้ “กลุ่มดาวนายพราน” (Orion) ในการชี้ตำแหน่งทิศเหนือได้คร่าว ๆ เนื่องกลุ่มดาวนายพรานจะหันหัวเข้าหาดาวเหนือเสมอ นอกจากนั้นกลุ่มดาวนายพรานยังตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตรฟ้า ทำให้กลุ่มดาวนายพรานขึ้น-ตก ในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก เสมอ
ทิศทางการถ่ายภาพและลักษณะเส้นแสงดาวที่ได้
การเคลื่อนที่ของเส้นดาวจะต่างกันไป บางภาพดาวจะเคลื่อนเป็นวงกลม บางภาพเป็นแนวขวาง เฉียงไปทางขวาบ้าง ซ้ายบ้าง ทั้งนี้เนื่องจากโลกเราหมุนในลักษณะรอบแกนของตัวเอง ซึ่งแกนที่ว่าก็คือขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้นั้นเอง ดังนั้นเมื่อเราหันหน้ากล้องไปทางทิศเหนือหรือดาวเหนือ ซึ่งเป็นแนวแกนของโลก เราก็จะได้ภาพเส้นแสงดาวเคลื่อนที่หมุนวงรอบๆ ดาวเหนือ แต่ถ้าหากเราหันหน้ากล้องไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก เราก็จะได้ภาพเส้นแสงดาวเคลื่อนที่เป็นแนวขวาง เป็นหลักการง่ายๆ ที่ควรทราบและเข้าใจสำหรับคนที่อยากถ่ายภาพเส้นแสงดาวครับ
นอกจากนี้ การเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าหมุนรอบโลก 1 รอบ ใช้เวลา 1 วัน (24 ชั่วโมง) ทำให้เรามองเห็นดาวฤกษ์เคลื่อนที่ไปตามทรงกลมท้องฟ้าด้วยอัตรา 15 องศาต่อชั่วโมง (360°/24 ชั่วโมง = 15 องศา)
ดังนั้นหากเราต้องการภาพเส้นแสงดาวที่มีความยาวมากๆ ก็ต้องใช้เวลาในการถ่ายภาพนานขึ้นตามการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้านั้นเองครับ
เทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ
-
- หาตำแหน่งขั้วเหนือท้องฟ้าจากกลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือกลุ่มดาวค้างคาว
- ถ่ายภาพด้วยโหมดแมนนวล (M)
- ใช้วิธีการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (Continuous) โดยทั่วไปมักนิยมใช้เวลาในการเปิดหน้ากล้อง 30 วินาที และถ่ายภาพต่อเนื่องเรื่อยๆ แล้วนำภาพมาต่อกันเพื่อให้ได้ภาพเส้นแสงดาว (วิธีนี้ต้องใช้สายลั่นชัตเตอร์รวมในการถ่ายภาพ หากในกล้องไม่มีระบบถ่ายภาพต่อเนื่องอัตโนมัติ)
- ปิดระบบการกำจัดสัญญาณรบกวน (Noise reduction) เพื่อให้กล้องสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และไม่ทำให้เส้นแสงดาวขาดหายไป
- ไม่ใช้ระบบล็อคกระจกสะท้อนภาพ
- ปิดระบบออโต้โฟกัส พร้อมทั้งปรับโฟกัสของเลนส์ที่ระยะไกลสุด (อินฟินิตี้)โดยเช็คดูว่าภาพดาวคมชัดและเล็กที่สุดหรือไม่ ด้วยจอภาพหลังกล้อง
- ค่าความไวแสงอาจเริ่มถ่ายตั้งแต่ ISO 1000 เป็นค่าตั้งต้น และสามารถปรับเพิ่มหรือลดลง ตามสภาพแสงของสถานที่นั้นๆ ซึ่งสิ่งสำคัญคือภาพต้องเห็นจุดดาวและฉากหน้าได้พอสมควร ไม่สว่างหรือมืดเกินไป
- เมื่อเช็คมุมและค่าที่จะใช้ในการถ่ายภาพแล้ว ก่อนเริ่มถ่ายแบบต่อเนื่อง ควรถ่ายภาพ Dark Frame คือภาพที่ถ่ายด้วยค่าแบบเดียวกับที่เราจะใช้ถ่ายดาว แต่ให้ปิดฝาหน้ากล้องไว้ โดยถ่ายไว้ก่อนประมาณ 5 ภาพ แล้วจึงเริ่มถ่ายภาพเส้นแสงดาวตลอดทั้งคืน หรือจนแบตเตอรี่จะหมด
- ถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW เพื่อความยืดหยุ่นในการนำภาพมาปรับในภายหลัง
การประมวลผลภาพถ่ายเส้นแสงดาว ด้วยโปรแกรม StarStax
หลังจากที่เราถ่ายภาพเก็บไฟล์มาหลายร้อยภาพแล้ว เรามาทำการประมวลผล หรือการนำภาพทั้งหมดมารวมกัน โดยจะแนะนำโปรแกรมที่ StarStax เป็นฟรีแวร์สามารถดาวน์โหลดได้ที่ (คลิ๊ก) หลังจากดาวน์โหลดและติดตั้งโปรแกรมแล้วเรามาเริ่มกันเลยครับ
-
- เปิดไฟล์ภาพดาวที่ถ่ายไว้ทั้งหมดออกมา โดยคลิกที่ไอคอน Open Image
- เปิดไฟล์ภาพ Dark ที่ถ่ายไว้ทั้งหมดออกมา โดยคลิกที่ไอคอน Open Dark Frames
- เลือกรูปแบบในการรวมภาพแบบ Lighten โดยคลิกที่โหมด Blending Mode / Lighten
- ทำการ Process ภาพโดยคลิกที่ไอคอน Start Processing โปรแกรมจะจัดการไฟล์ภาพให้ทั้งหมด ทั้งการรวมภาพและการกำจัดสัญญาณรบกวน (Noise) เพียงคลิกเดียวเท่านั้น
- เมื่อรวมภาพเสร็จแล้วทำการ Save image โดยคลิก File / Save As
- เลือกรูปแบบการบันทึกภาพแบบ TIFF เพื่อให้สามารถนำไปใช้ปรับแต่งในภายหลัง