นอกจากการถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือกด้วยเลนส์มุมกว้างที่หลายคนนิยมถ่ายกันแล้ว หากใครที่เริ่มจะหาอุปกรณ์ขาตามดาวมาใช้ถ่ายภาพกัน ก็ไม่ควรพลาดโอกาสที่จะเก็บภาพวัตถุในห้วงอวกาศลึก หรือที่เรียกกันว่า Deep Sky Objects (DSOs) กันได้เช่นกันครับ
สำหรับภาพ Deep Sky Objects ที่อยู่ใกล้กับบริเวณใจกลางทางช้างเผือกนั้น จริงๆแล้วเราก็มักจะถ่ายภาพติดมาในภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ค่อยได้สังเกตกันเท่านั้น หากสังเกตดีๆ ก็จะพบว่าในบางตำแหน่งในภาพใจกลางทางช้างเผือกนั้น มีวัตถุที่มีสีออกแดงๆ ฟ้าๆ ติดมาในภาพ และหากเราซูมภาพดูก็อาจจะเห็นรายละเอียดและรูปร่างของวัตถุนั้นๆ ได้บ้าง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ภาพถ่ายติดมาก็จะเป็นพวกเนบิวลาชนิดเปล่งแสง (Emission Nebula) ที่มีสีออกแดงเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้นหากเราลองหาเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงๆ ถ่ายเจาะไปยังบริเวณที่ปรากฏวัตถุสีแดงๆ เหล่านั้น ก็จะพบว่า เป็นวัตถุท้องฟ้าที่มีสีสันสวยงามและลักษณะต่างๆที่แตกต่างกันออกไป ให้น่าถ่ายภาพกันได้อีกด้วยครับ
เทคนิคการถ่ายภาพ
สำหรับเทคนิคการถ่ายภาพ Deep Sky Objects นั้น ผู้ถ่ายภาพจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ขาตามดาวเพื่อให้กล้องสามารถถ่ายภาพเป็นเวลานานๆ ได้ ซึ่งอุปกรณ์เริ่มต้นที่ผมจะแนะนำก็คือ พวกอุปกรณ์ตามดาวแบบพกพาทั่วไป กับเลนส์ 50mm. ขึ้นไป ก็สามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพ Deep Sky Objects ได้แล้ว แต่อาจได้คุณภาพที่สู้การถ่ายภาพด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงๆ และมีอุปกรณ์ติดตามวัตถุท้องฟ้าที่แม่นยำไม่ได้
อย่างไรก็ตามภาพตัวอย่างด้านล้างนี้ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการถ่ายภาพด้วยเลนส์เทเลโฟโต้ บนขาตั้งกล้องแบบตามดาวพกพา ด้วยเวลาการเปิดหน้ากล้องเพียง 2 นาทีเท่านั้นก็สามารถเก็บภาพ Deep Sky Objects ในบริเวณใจกลางทางช้างเผือกกันได้แล้วครับ ซึ่งนั้นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับใครที่อยากหันมาลองเปลี่ยนแนวถ่ายภาพ Deep Sky Objects กันได้เช่นกันครับ
แต่หากใครที่ยังไม่มีความรู้พื้นฐานการใช้งานอุปกรณ์ขาตามดาวก็สามารถเข้าไปศึกษาได้ตามลิงก์ด้านล่างที่เคยเขียนไว้ได้ครับ ซึ่งผมได้แนะนำทั้งตัวอุปกรณ์และวิธีการทำ Polar Alignment ไว้แบบละเอียด
ลิงก์ “รีวิวอุปกรณ์ตามดาวแบบพกพา” (คลิ๊ก)
ลิงก์ “วิธีการใช้งานอุปกรณ์ตามดาวแบบพกพา กับการทำ “Polar Alignment” (คลิ๊ก)
ตัวอย่างภาพ Deep Sky Objects บริเวณใกล้กับใจกลางทางช้างเผือก ประเภทเนบิวลาชนิดเปล่งแสง (Emission Nebula) ที่สามารถถ่ายภาพได้
Lagoon Nebula (M8, NGC 6523)
เนบิวลาทะเลสาบ (Lagoon Nebula) เป็นเนบิวลาชนิดเปล่งแสง (Emission Nebula) ขนาดใหญ่ห่างออกไป 4,000-6,000 ปีแสงในกลุ่มดาวคนยิงธนู เนบิวลาชนิดเปล่งแสง (Emission Nebula) นี้เป็นบริเวณซึ่งก๊าซจำนวนมหาศาลกำลังยุบรวมตัวกันอย่างช้าๆ ก่อนที่จะถือกำเนิดไปเป็นดาวฤกษ์ เนบิวลานี้มีขนาดประมาณ 50 x 110 ปีแสง
Eagle Nebula (M16, NGC 6611)
Eagle Nebula เป็นเนบิวลาชนิดเปล่งแสง (Emission Nebula) ที่มีแสงสว่างในตัวเองอีกเนบิวลาหนึ่ง อยู่ในกลุ่มดาวงู (Serpens) ห่างจากโลกไปประมาณ 7,000 ปีแสง ภายในเนบิวลานี้ คือแหล่งกำเนิดดาวฤกษ์ ชนิดร้อนจัดเป็นจำนวนมาก โดยตัวเนบิวลาเองนั้นก็มีรูปร่างเหมือนกับ “นกอินทรี” โดยมีเสาก๊าซมืดตรงกลางเหมือนกับ “กรงเล็บ” นอกจากนั้นยังสามารถสังเกตเห็นกระจุกดาวเปิดอายุน้อยในกลุ่มดาวงู และเป็นหนึ่งในบรรดาวัตถุท้องฟ้าที่มีชื่อเสียง เป็นที่สังเกตเห็นได้ง่าย
Omega Nebula (M17, NGC 6618, Swan, Horseshoe or Lobster Nebula)
The Omega Nebula หรือ Swan Nebula เป็นกลุ่มก๊าซไฮโดรเจนที่ถูกกระตุ้นให้เรืองแสงจากดวงดาวภายในเนบิวลา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของดาวฤกษ์ที่ถอดยาวไปตามกังหันของกาแล็กซี และกระจัดกระจายด้วยแสงสีแดงจากอะตอมของก๊าซไฮโดรเจนและฝุ่นผงของเนบิวลา โดยอยู่ห่างออกไป 5,500 ปีแสง Omega Nebula จัดว่าเป็นหนึ่งในเนบิวลาที่สว่างที่สุดในกาแล็กซีทางช้างเผือก
Trifid Nebula (M20, NGC 6514)
Trifid Nebula เป็นทั้งเนบิวลาเปล่งแสง (Emission Nebula) เนบิวลาสะท้อนแสง (Reflection Nebula) และเนบิวลามืด อยู่ในตัวเดียวกัน ในกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius) ดาวเกิดใหม่ที่อยู่ภายในแผ่รังสีออกมากระตุ้นให้กลุ่มแก๊สที่อยู่บริเวณรอบๆ แผ่รังสีปรากฏเป็นเนบิวลาสว่างสีแดง แต่มีกลุ่มแก๊สหนาทึบบางส่วนมาบังแสงสว่างทำให้มองเห็นเป็นเนบิวลามืด และเกิดการกระเจิงของแสงที่กลุ่มแก๊สที่อยู่ด้านหลัง ทำให้มองเห็นเป็นเนบิวลาสะท้อนแสงสีน้ำเงิน