เครดิต : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 16-35 mm. / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 2000 / Exposure : 30 sec / WB : 4200K
ปัจจุบันมลภาวะทางแสง หรือที่มักคุ้นหูกันว่า “Light Pollution” ถือเป็นปัญหาใหญ่ของนักถ่ายภาพดาราศาสตร์ ซึ่งขัดขวางการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า ทำให้นักถ่ายภาพต้องเดินทางออกห่างจากนอกเมืองในระยะทางที่ไกลมากขึ้น อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าในบางครั้งเราจะออกห่างจากแสงเมืองก็มักจะยังมีแสงจากหลอดไฟต่างๆ ที่สะท้อนแสงกับมวลอากาศบริเวณขอบฟ้าทำให้เกิดภาพแสงสีเหลืองติดเข้ามาในภาพถ่ายของเรา และอาจบดบังรายละเอียดของวัตถุท้องฟ้าที่เราถ่ายภาพมาได้เช่นกัน ซึ่งส่งผลต่อกากรถ่ายภาพไม่น้อย หลายปีมาแล้วนักดาราศาสตร์อาชีพได้พบกับปัญหา Light Pollution ในการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าจึงได้มีการผลิตอุปกรณ์ชื่อว่า Light Pollution Suppression (LPS) Filters ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ถูกนำมาใส่ไว้หน้าเซนเซอร์อุปกรณ์ถ่ายภาพตัวอย่างอุปกรณ์ตัดแสงจาก Light Pollution โดยการใส่ฟิลเตอร์ (LPS) Filters ไว้หน้าเซนเซอร์
โดยในการใส่ฟิลเตอร์ (LPS) Filters นั้นค่อนข้างจะยากและต้องระมัดระวังพอสมควร แต่ในปัจจุบันได้มีผู้ผลิตฟิลเตอร์สำหรับตัดแสงที่มาจาก Light Pollution ซึ่งทำออกมาในรูปแบบของฟิลเตอร์แผ่นที่ใส่ได้บริเวณด้านหน้าเลนส์ถ่ายภาพทำให้สะดวกมากขึ้น โดยผู้ผลิตเองตั้งชื่ออุปกรณ์ดังกล่าวว่า “PureNight Filter” หรือเรียกอีกอย่างว่า Light Pollution Reduction Filter ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการกรองแสงป้องกันแสงสะท้อนเพื่อลดแสงจ้าและปรับสมดุลสีของภาพ โดยที่ยังคงรักษาความสามารถในการเปิดรับแสง (Dynamic Range) ที่กว้างเหมือนเดิม ฟิลเตอร์ดังกล่าวราคาค่อนข้างสูง ทำจากกระจกนิรภัยที่ช่วยลดแสงสีส้มเหลือง ในช่วงความยาวคลื่น 575 – 600 นาโนเมตร ซึ่งเป็นความยาวคลื่นเดียวกันของแสงของหลอดไฟทั่วไปที่ปล่อยออกมาตัวอย่าง Light Pollution Reduction Filter (LPR Filter) ซึ่งวัสดุทำด้วยกระจกนิรภัย
ตัวอย่างการใส่ฟิลเตอร์ตัดแสง Light Pollution ไว้ด้านหน้าเลนส์เช่นเดียวกับการใส่ฟิลเตอร์อื่นๆ
Ι ความเห็นส่วนตัวหลังการทดลองใช้ Light Pollution Reduction Filter (LPR Filter)ภาพถ่ายทางช้างเผือกในบริเวณที่ขอบฟ้ามีมลภาวะทางแสง โดยการใส่ฟิลเตอร์ตัดแสง Light Pollution
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 16-35 mm. / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 2500 / Exposure : 30 sec / WB : 4200K / LPR Filter )
หลังจากทดลองใช้งานในการถ่ายภาพทางช้างเผือกบริเวณที่มีมลภาวะทางแสงแถวขอบฟ้า ซึ่งภาพข้างต้นถ่ายบริเวณชานเมือง ซึ่งยังมีแสงสีเหลืองส้มของหลอดไฟถนนสะท้อนฟุ้งที่ขอบฟ้า ผมคิดว่าอุปกรณ์นี้สามารถช่วยการกรองแสงป้องกันแสงสะท้อนและลดแสงจ้าได้ในระดับหนึ่ง โดยเมื่อนำภาพที่ใส่ LPR Filter กับไม่ใส่มาเปรียบเทียบกัน พบว่า 1. ภาพที่ใส่ LPR Filter มีรายละเอียดที่ดีกว่าเล็กน้อย 2. สีของภาพถ่ายติดโทนสีม่วงมากกว่า ภาพถ่ายที่ไม่ได้ใส่ LPR Filter 3. ความสว่างของภาพจะลดลงประมาณ 1 สตอป (-1EV) 4. ราคาค่อนข้างสูง หากยังไม่จริงจังยังไม่ควรซื้อครับ อ้างอิง: http://www.narit.or.th/index.php/astro-photo-article/3473-light-pollution-reduction-filter