– ดำเนินงานวิจัย การลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำหรับการปลูกพันธ์ไม้ดอกและการลดมลภาวะทางแสงบนดอยอินทนนท์
รูปแสงสว่างจากแปลงดอกเบญจมาศและแหล่งชุมชนบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
นายวทัญญู แพทย์วงษ์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ และทีมงาน จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ดำเนินการศึกษา “การลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำหรับการปลูกพันธ์ไม้ดอกและการลดมลภาวะทางแสงบนดอยอินทนนท์” เพื่อหาแนวทางการลดการกระเจิงแสงขึ้นไปบนท้องฟ้า ดำรงสภาพความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และช่วยประหยัดค่าใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนของเกษตรกรที่อยู่อาศัยบนดอยอินทนนท์ โดยรณรงค์ให้เกษตรกรติดตั้งโคมไฟครอบหลอดไฟฟ้าบนแปลงพันธุ์ไม้ดอกเพื่อลดแสงเรืองบนท้องฟ้าและเปลี่ยนอุปกรณ์เป็นหลอดประหยัดไฟเพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า ซึ่งพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของก้านดอก คือ ความเข้มแสง ควรมีความเหมาะสมในการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ดอก จึงจำเป็นต้องออกแบบโคมไฟให้มีการเพิ่มความเข้มแสงและกระจายแสงเฉลี่ยอย่างทั่วถึงทั้งแปลงเพาะปลูก โคมไฟแบบแรกมีลักษณะเป็นทรงกรวยกลมใช้กับหลอดไฟฟ้าแบบ LED ซึ่งผลที่ได้ คือ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงเหลือร้อยละ 25 จากเดิม แบบที่สองเป็นโคมไฟรูปครึ่งทรงกระบอกใช้กับหลอดไฟแบบตะเกียบที่ทำให้การกระจายแสงสว่างใกล้เคียงกับหลอดแบบเดิม ผลปรากฏว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงเหลือร้อยละ 50 จากเดิมและพันธุ์ไม้ดอกที่ปลูกทั้งสองแปลงมีความยาวก้านดอกใกล้เคียงกัน รวมทั้งแสงสว่างที่สะท้อนขึ้นไปด้านบนโรงเรือนน้อยกว่าเดิมเหลือร้อยละ 5 จากเดิม ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าของกลุ่มเกษตรกรบนดอยอินทนนท์ได้อย่างมากและเหมาะสมแก่การปลูกพันธุ์ไม้ดอกเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นว่าการติดตั้งโคมไฟและลดกำลังไฟฟ้าของหลอดไฟฟ้าทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าและมลภาวะทางแสงจากแปลงปลูกพันธุ์ไม้ดอกลดลงอย่างมาก
>> อ้างอิง : การศึกษา “การลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำหรับการปลูกพันธ์ไม้ดอกและการลดมลภาวะทางแสงบนดอยอินทนนท์”
____________________________________